ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เรืออากาศหญิงฐาปนพร สิงหโกวินท์

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาและประเมินผลเทคโนโลยีบริการปรึกษา: กรณีเปิดเผยผลเลือด

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 42.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผู้ติดเชื้อเอชไอวีกังวลใจและหวั่นกลัวผลกระทบต่างๆ ของบุคคลรอบข้างเมื่อทราบผลเลือด และผู้ให้การปรึกษาขาดความเชื่อมั่นและทักษะในการสนับสนุนให้ผู้ติดเชื้อสามารถพิจารณา ตัดสินใจและมีแนวทางเปิดเผยผลเลือดได้ด้วยตนเอง ในขณะที่การเปิดเผยผลเลือดมีความเกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรองเพื่อป้องกันและแพร่เชื้อระหว่างคู่เพศสัมพันธ์ ตัดสินใจมีบุตรและกินยาต้านไวรัส ผู้ให้บริการปรึกษามีความต้องการอย่างมากในการเพิ่มพูนทักษะการปรึกษา กรณีเปิดเผยผลเลือด การพัฒนาเทคโนโลยีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำชุดฝึกอบรมการให้การปรึกษา กรณีเปิดเผยผลเลือด สำหรับวิทยากรระดับเขต นำไปถ่ายทอดให้ผู้ปฏิบัติงานปรึกษาเรื่องเอดส์ให้ครอบคลุมทุกเขต การพัฒนาเทคโนโลยีดำเนินงานตามกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี และวิจัยประเมินผลการใช้เทคโนโลยีกับกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ ศึกษาความต้องการ ทบทวนวรรณกรรม เข้ารับการอบรมทักษะการปรึกษากรณีเปิดเผยผลเลือดจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ จัดประชุมนักวิชาการผู้ปฏิบัติงานบริการปรึกษาเพื่อจัดทำชุดฝึกอบรม แล้วนำไปทดสอบคุณภาพและการใช้ประโยชน์ 1 ครั้ง นำกลับมาปรับปรุงเป็นชุดฝึกอบรม จัดอบรมให้กับวิทยากรระดับเขต 2 รุ่น และทำการประเมินผล กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรวิทยากรการให้การปรึกษา กรณีเปิดเผยผลเลือด จำนวน 77 คน ทำการศึกษาหลังสิ้นสุดการอบรมภาคทฤษฎีทันที มีผู้ตอบแบบสอบถาม 75 คน คิดเป็นร้อยละ 97.4 และหลังฝึกปฏิบัติสอน (Micro Teaching) มีผู้ตอบแบบสอบถาม 64 คน คิดเป็นร้อยละ 83.1 ใช้การประเมินก่อนและหลังการอบรมแบบ self evaluation วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทำการเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อกระบวนการ เนื้อหาการอบรม ผลการศึกษา โดยรวมวิทยากรระดับเขตมีความพึงพอใจต่อเทคโนโลยีในระดับดี มีความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้รับบริการกรณีเปิดเผยผลเลือดเพิ่มขึ้นในระดับดี มีความมั่นใจเพิ่มขึ้นในระดับมากในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อพิจารณาประเด็นต่างๆ การตัดสินใจบอกผลเลือดและการส่งต่อผู้รับบริการไปสู่หน่วยบริการอื่นๆ และมั่นใจในการเป็นวิทยากรหลักสูตรนี้เพิ่มขึ้นในระดับมาก สรุป ผู้ผ่านการอบรมซึ่งเป็นทั้งผู้ปฏิบัติและวิทยากรมีความเห็นว่า หลักสูตรการให้การปรึกษา กรณีเปิดเผยผลเลือด มีประโยชน์ คุ้มค่า เป็นความรู้ใหม่ที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ เป็นประโยชน์แก่ทีมวิทยากรในการนำไปใช้ฝึกอบรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีข้อเสนอแนะว่าควรขยายผลการฝึกอบรมไปสู่ผู้ปฏิบัติให้ครอบคลุมและพัฒนาวิทยากรเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรที่ปฏิบัติงานปรึกษาเรื่องเอดส์ในพื้นที่

Keywords: เอชไอวี, เพศสัมพันธ์, ทักษะ, การพัฒนา, ผลเลือด, ความพึงพอใจ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมสุขภาพจิต

Code: 2005000045

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -