ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เจษฎา บุญมาโฮม

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาและพัฒนาโปรแกรมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มเพื่อเพิ่มกลวิธีการเผชิญปัญหาและการใส่ใจในการเรียนของนักศึกษาสาขาครุศาสตร์ จังหวัดนครปฐม

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 43.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงสำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เปรียบเทียบการเผชิญปัญหาและการใส่ใจในการเรียนของนักศึกษาสาขาครุศาสตร์ ในจังหวัดนครปฐม ส่วนที่ 2 เป็นการวิจัยเชิงทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาโปรแกรมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มเพื่อพัฒนาการเผชิญปัญหาและการใส่ใจในการเรียน จากนั้นศึกษาผลของโปรแกรมการทดลองแบบกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองวัดก่อน-หลังการทดลองกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยส่วนที่ 1 คือ นิสิตนักศึกษาคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ในจังหวัดนครปฐมที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2547 จำนวน 621 คน การวิจัยส่วนที่ 1 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมที่มีการเผชิญปัญหาและการใส่ใจในการเรียนต่ำจำนวน 24 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบวัดการเผชิญปัญหา แบบวัดการใส่ใจในการเรียน และโปรแกรมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าที ค่าเอฟ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ ผลการวิจัย พบว่า 1) นักศึกษาที่มีสาขาการเรียนและลำดับการเกิดต่างกันมีการเผชิญปัญหาและการใส่ใจในการเรียนไม่แตกต่างกัน นักศึกษาที่มีชั้นปีแตกต่างกันมีการเผชิญปัญหาและการใส่ใจในการเรียนแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนนักศึกษาที่มีเพศแตกต่างกันมีการเผชิญปัญหาไม่แตกต่างกัน แต่มีการใส่ใจในการเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยที่การเผชิญปัญหามีความสัมพันธ์กับการใส่ใจในการเรียน ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการใส่ใจในการเรียนสามารถทำนายการเผชิญปัญหาได้ร้อยละ 25 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ภายหลังการทดลองนักศึกษากลุ่มทดลองมีการเผชิญปัญหาและการใส่ใจในการเรียนสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Keywords: ความสัมพันธ์, การเรียน, นักศึกษา, เปรียบเทียบ, ปัญหา, โปรแกรม, การพัฒนา,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

Code: 2005000046

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -