ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นพ.ทวี ตั้งเสรี, สุพิน พิมพ์เสน, พญ.ปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ

ชื่อเรื่อง/Title: สายน้ำและความเศร้า ผลการสำรวจด้วยแบบคัดกรองอารมณ์ซึมเศร้าและภาวะความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของผู้ประสบเหตุธรณีพิบัติในจังหวัดกระบี่ จำนวน 51 ราย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 49.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อแสดงการคัดกรอง ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าและภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และวิธีช่วยเหลือในผู้ประสบเหตุ ทั้ง 51 ราย การดำเนินการ ผู้ประสบเหตุทั้ง 51 ราย เป็นประชาชนในพื้นที่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ที่ประสบเหตุธรณีพิบัติ (Tsunami) ในลักษณะต่างๆ กัน ทั้ง 51 ราย ได้รับการสัมภาษณ์ด้วยแบบคัดกรอง GHQ (General Health Questionnaires) และแบบคัดกรองภาวะอารมณ์ซึมเศร้า และภาวะความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยคณทำงานจากโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เพื่อประเมินสภาพจิตและภาวะสุขภาพจิต ตลอดจนภาวะซึมเศร้าที่มักพบได้ภายหลังการเกิดอุบัติภัย และวางแผนการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนลดความเสี่ยงกรณีพบความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ผลการศึกษา จากการคัดกรองด้วยแบบคัดกรอง พบว่าผู้ประสบเหตุทั้ง 51 ราย ตอบว่ามีภาวะอารมณ์ซึมเศร้าตั้งแต่ 1-13 อาการจาก 15 อาการ และตอบว่ามีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ตั้งแต่อาการ 1-5 อาการ จาก 6 อาการ พบว่าผู้ที่เข้าข่ายมีอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งมีอาการอย่างน้อย 6 ใน 15 อาการขึ้นไป มีจำนวน 20 ราย คิดเป็น 39.2% และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีอาการอย่างน้อย 2 ใน 6 อาการขึ้นไปมีจำนวน 17 ราย คิดเป็น 33% ผู้ประสบเหตุที่มีความเสี่ยงต่ออารมณ์ซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายทุกราย ได้รับการดูแล โดยพยาบาลจิตเวชและจิตแพทย์ โดยการทำจิตบำบัดทั้งรายบุคคลและแบบกลุ่ม ตลอดจนได้รับยารับประทาน และได้รับการส่งต่อให้ผู้รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้ติดตามต่อ พบว่าในผู้มีความเสี่ยงทุกรายที่ได้รับการคัดกรอง และดูแลต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้มีการปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดีไม่เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตที่ร้ายแรง สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ และไม่มีผู้ใดทำร้ายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตายซ้ำอีก สรุปผลการศึกษา แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เป็นแบบคัดกรองที่มีประโยชน์ในการระบุกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด ตลอดจนสามารถใช้ในการวางแผนการรักษา และใช้ในการติดตาม ความก้าวหน้าของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีการใช้แบบคัดกรองนี้ทำให้คณะทำงานสามารถวางแผนการดูแลรักษา และการติดตามได้อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อเสนอแนะ ควรทำแบบคัดกรองนี้มาใช้ให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนไม่เฉพาะแต่ผู้ประสบเหตุธรณีพิบัติเท่านั้น

Keywords: ซึมเศร้า, ภาวะเสี่ยง, สุขภาพจิต, ฆ่าตัวตาย, อารมณ์, ธรณีพิบัติ,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 2005000050

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -