ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พนอวดี จันทนา

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในชุมชนเกาะสมุย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 50.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา(Descriptive study) มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับการควบคุมตนเอง ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความคิดเห็นต่อการใช้บริการสถานเริงรมย์ ความคิดเห็นต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ของนักเรียน 2) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ของนักเรียน จำแนกตามเพศ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ค่าใช้จ่ายที่ได้รับ บุคคลที่อาสัยอยู่ด้วย และประสบการณ์การใช้บริการสถานเริงรมย์ 3) เพื่อศึกษาว่าการควบคุมตนเอง ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความคิดเห็นต่อการใช้บริการสถานเริงรมย์ และความคิดเห็นต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน สามารถทำนายพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ของนักเรียน กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในชุมชนเกาะสมุย ปีการศึกษา 2547 จำนวน 236 คน ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified random sampling) เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน T-test F-test และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณตามลำดับความสำคัญของตัวแปรที่นำเข้าสมการ (Stepwise Multiple Regression Analysis) ผลการวิจัย 1) การควบคุมตนเองอยู่ในระดับมาก ความสัมพันธ์ในครอบครัว อยู่ในระดับดี ความคิดเห็นต่อการใช้บริการสถานเริงรมย์ ความคิดเห็นต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน อยู่ในระดับกลาง และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ อยู่ในระดับน้อย 2) นักเรียนที่มีเพศต่างกันมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน บุคคลที่อาศัยอยู่ด้วยและประสบการณ์ในการใช้บริการสถานเริงรมย์ที่ต่างกัน มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนนักเรียนที่มีค่าใช้จ่ายที่ได้รับต่างกันมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ไม่แตกต่างกัน 3) การควบคุมตนเอง ความคิดเห็นต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน และความคิดเห็นต่อการใช้บริการในสถานเริงรมย์ เป็นตัวแปรที่สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้ร้อยละ 33.5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสถานเริงรมย์และสื่อที่กระตุ้นอารมณ์เพศ นักเรียนต้องตระหนักและมีทักษะในการควบคุมอารมณ์ตนเองมากขึ้น การจัดโปรแกรมการฝึกอบรมการควบคุมตนเองเป็นแนวทางการป้องกันปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ของนักเรียน

Keywords: เพศสัมพันธ์, พฤติกรรม, ความเสี่ยง, นักเรียนมัธยม, ครอบครัว

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลเกาะสมุย

Code: 2005000051

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -