ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เสาวรส บุญน้อม

ชื่อเรื่อง/Title: การติดตามผลหลังการจัดค่ายบำบัดผู้ติดยาบ้า : กรณีศึกษาการจัดค่ายฟ้าใส อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 108-109. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

จากผลการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยทั่วไปยังไม่เป็นที่น่าพอใจทั้งนี้เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ผ่านการบำบัดรักษาฯ แล้วหวนกลับไปใช้สารเสพติดและกลับเข้ามารักษาซ้ำอีก เนื่องจากการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยทั่วไปมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถหยุดเสพโดยไม่มีอาการและไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ดังจะเห็นได้จากสถิติการดำเนินงานบำบัดโดยการจัดค่ายบำบัดผู้ติดยาบ้าของศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในปี 2543 พบว่า ภายหลังการบำบัดรักษา 1 ปี มีผู้กลับไปใช้ยาบ้าร้อยละ 77.2 และ ในปี 2544 ได้มีการจัดค่ายบำบัดผู้ติดยาบ้าในรูปแบบค่าย "ฟ้าใส" ดังนั้น คณะทีมงานยาเสพติดโรงพยาบาลแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จึงได้ศึกษาการติดตามผลผู้ที่ผ่านการบำบัดยาบ้าจากการจัดค่ายฟ้าใสขึ้น เพื่อนำเป็นข้อมูลในการพัฒนาการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดซึ่งจะช่วยให้ผู้ติดยาบ้าสามารถเลิกยาได้อย่างยั่งยืน วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอัตราการเสพยาซ้ำ สาเหตุการเสพยาซ้ำ และปัจจัยส่งเสริมการไม่เสพยาซ้ำของผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาจากค่ายฟ้าใส ขอบเขตการวิจัย ศึกษาการติดตามผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาจากค่ายฟ้าใสปี 2544 ทุกคน สรุปผลการวิจัย ผู้เข้ารับการรักษายาบ้าส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านการบำบัดรักษายาบ้าจากที่อื่น ปัญหาสุขภาพที่พบคือ มีอาการหวาดระแวง (ร้อยละ 3.25) หูแว่ว (ร้อยละ 2.62) ภายหลังบำบัดในระยะเวลา 1 เดือน มีการเสพซ้ำร้อยละ 37.84 และในระยะเวลา 4 เดือน มีการเสพยาซ้ำ ร้อยละ 16.45 ปัจจัยที่ทำให้กลับไปเสพซ้ำ คือ เพื่อนชักชวน ร้อยละ 23.38 พบเห็นการเสพยาบ้า ร้อยละ 16.42 และเหงา ร้อยละ 14.93 ส่วนปัจจัยที่ทำให้ไม่กลับไปเสพซ้ำ ได้แก่ การได้รับความรู้เรื่องยาเสพติด ร้อยละ 38.22 ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น ร้อยละ 34.05 และเกรงมติประชาคมที่ชุมชน ไม่ยอมรับผู้เสพยา ร้อยละ 14.38 สำหรับปัจจัยที่ทำให้เลิกยาได้ คือ การดูแลติดตามของเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลแม่เมาะ ร้อยละ 14.85 ความไว้วางใจของคนในชุมชน ร้อยละ 14.44 การมองเห็นคุณค่าในตนเอง ร้อยละ 12.36 และการมีมติประชาคมในหมู่บ้านร้อยละ 8.81. ข้อเสนอแนะ 1. การพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาควรเน้นองค์ความรู้ให้ผู้ป่วยสามารถ มองเห็นคุณค่าในตนเองควบคู่กับการให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการบำบัดฯ ดังเช่นการบำบัดวิธีจิตสังคมบำบัด หรือการจัดค่ายเยาวชนต้นกล้า 2. ควรนำปัจจัยที่ทำให้เลิกเสพยาบ้าได้ไปใช้วางแผนการติดตามภายหลังการบำบัดฯ ให้จริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการติดตามของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และการสร้างการยอมรับของชุมชนต่อผู้ที่ผ่านการบำบัด

Keywords: ผู้ติดยาเสพติด, ค่ายบำบัดผู้ติดยาบ้า, ยาบ้า, ค่าย, ค่ายฟ้าใส, ค่ายยาเสพติด, สารเสพติด, amphetamine

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

Code: 00000018

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -