ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อนงค์ ธรรมโรจน์, ธรณินทร์ กองสุข, เกษราภรณ์ เคนบุปผา, จินตนา ลี้จงเพิ่มพูน

ชื่อเรื่อง/Title: โปรแกรมการป้องกันการฆ่าตัวตายแบบเข้มข้นสำหรับผู้ป่วย : รูปแบบพระศรีมหาโพธิ์

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, ปีที่ 51, ฉบับที่ 1, มกราคม-มีนาคม 2549, หน้า 42.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของโปรแกรมการป้องกันการฆ่าตัวตายแบบเข้มข้นสำหรับผู้ป่วยใน : รูปแบบพระศรีมหาโพธิ์ วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยโดยการทดลองที่วัดทั้งก่อนและหลังการทดลองโดยไม่มีกลุ่มควบคุม ใช้การกำหนดกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยจิตเวชทุกรายที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2548 ถึง 31 พฤษภาคม 2548 จำนวน 397 ราย โดยโปรแกรมการป้องกันการฆ่าตัวตายแบบเข้มข้นสำหรับผู้ป่วยใน : รูปแบบพระศรีฯ ประกอบด้วย 1) Universal Assessment : ประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำหรับผู้ป่วยในทุกรายตั้งแต่แรกรับและทุกสัปดาห์จนจำหน่าย ด้วยแบบประเมินความเสี่ยงฆ่าตัวตายที่อยู่ใน Mini International Neuropsychiatric Interview ฉบับภาษาไทย ผลการประเมินแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 มีความเสี่ยงต่ำ ระดับ 2 มีความเสี่ยงปานกลาง และระดับ 3 มีความเสี่ยงสูง 2) Internsive care ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายโดยดำเนินการตามโปรแกรมการช่วยเหลืออย่างเข้มข้นที่เฉพาะตามระดับความเสี่ยง 3) Intensive surveillance เป็นมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตายในหอผู้ป่วยอย่างเข้มข้น วัดประสิทธิผลที่ Primary outcome คือ อัตราการพยายามฆ่าตัวตายและอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ณ ช่วงเวลาที่ศึกษษ และ Secondary Outcome คือ อัตราของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายลดลงถึงระดับ 0 ณ วันที่จำหน่าย วิเคราะห์สถิติด้วย paired t-test และ Survival analysis ผลการวิจัย : อัตราความชุกของความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยจิตเวชที่รับไว้รักษาก่อนเริ่มโปรแกรมมีระดับ 3 (รุนแรง) ร้อยละ 10.08 (44 ราย) ระดับ 2 (ปานกลาง) ร้อยละ 5.79 (23 ราย) และระดับ 1 (น้อย) ร้อยละ 9.32 (37 ราย) เปรียบเทียบ ความแตกต่างของผลรวมค่าเฉลี่ยความเสี่ยงตั้งแต่สัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่ 5 พบว่า มีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทุกสัปดาห์ สำหรับ Primary Outcome พบว่า ไม่มีผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายและไม่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จและ Secondary Outcome พบว่า ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายลดลงถึงระดับ 0 ณ วันที่จำหน่าย ร้อยละ 86.7 (91 ราย) และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเมื่อได้รับโปรแกรมการป้องกันการฆ่าตัวตายแบบเข้มข้นครบ 35 วันแล้วความเสี่ยงลดลงจนถึงระดับไม่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายร้อยละ 80 สรุปได้ว่าโปรแกรมการป้องกันการฆ่าตัวตายแบบเข้มแข้นสำหรับผู้ป่วย รูปแบบพระศรีฯ มีประสิทธิผลในการป้องกันและเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลจิตเวช

Keywords: การฆ่าตัวตาย, โปรแกรมการป้องกันการฆ่าตัวตายแบบเข้มข้น, ผู้ป่วยใน, จิตเวชศาสตร์, ความชุก, อัตราเสี่ยง, ฆ่าตัวตาย, หอผู้ป่วยจิตเวช, จิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20050000523

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: