ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อานุภาพ ปภาพันธ์, สรยุทธ วาสิกนานนท์, พิเชฐ อุดมรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติในผู้ป่วยไทยที่รักษาด้วยลิเธียม

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, ปีที่ 51, ฉบับที่ 1, มกราคม-มีนาคม 2549, หน้า 29.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาถึงอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจากการกินยาลิเธียมในผู้ป่วยไทย และศึกษาว่าปัจจัยใดที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติดังกล่าว วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบ retrospective descriptive study โดยเก็บข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยลิเธียมเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 ถึง 31 สิงหาคม 2546 โดยดูปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อายุที่เริ่มได้ลิเธียมครั้งแรก เพศ ระยะเวลา ขนาดยาของลิเธียม ระดับลิเธียมในซีรั่ม และยาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษา ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ป่วยที่ได้ลิเธียมทั้งสิ้นจำนวน 355 ราย ในจำนวนนี้มี 286 ราย (ร้อยละ 80.6 ของผู้ป่วยที่ได้ลิเธียมทั้งหมด) ที่สามารถค้นหาข้อมูลการรักษาจากเวชระเบียนผู้ป่วยได้ โดยมีผู้ป่วยที่มีผลการตรวจไทรอยด์ฮอร์โมนทั้งหมด 182 ราย แต่มีเพียง 73 ราย เท่านั้นที่มีผลไทรอยด์ฮอร์โมนก่อนได้ลิเธียมและมีค่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งในจำนวนนี้พบผู้ป่วย 10 ราย (ร้อยละ 13.7 เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติหลังจากได้รับลิเธียม โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ครึ่งหนึ่งเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติภายใน 1 ปี หลังเริ่มรักษาด้วยลิเธียมแต่เกือบทั้งหมด (ร้อยละ 90) เกิดภาวะดังกล่าวภายใน 3 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) เป็นผู้หญิง ผู้ป่วยร้อยละ 80 มีอายุน้อยกว่า 50 ปี นอกจากนี้พบว่าผู้ป่วยที่เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติเร็วภายใน 1 ปีนั้น ผู้ป่วย 2 ใน 5 ราย มีอายุมากกว่า 50 ปี และผู้ป่วย 3 ใน 5 ราย มีผลไทรอยด์ฮอร์โมนก่อนเริ่มรักษาด้วยลิเธียมมากกว่า 3.3 mU/L ซึ่งใกล้กับค่าสูงสุดของค่าปกติ สรุป การเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจากลิเธียมพบได้ไม่น้อย และสามารถเกิดขึ้นได้เร็วภายใน 1 ปี หลังได้ยา โดยปัจจัยที่พบว่ามีความสัมพันธ์คือ ผู้ป่วยเพศหญิง มีระดับลิเธียมในซีรั่มสูง และระดับไทรอยด์ฮอร์โมนตั้งแต่ก่อนเริ่มรักษา มีค่าใกล้ค่าสูงสุดของค่าปกติแพทย์จึงควรให้ความสำคัยต่อการเกิดผลข้างเคียงนี้ในการใช้ลิเธียมเพื่อการรักษาระยะยาว อย่างไรก็ตามควรได้มีการศึกษาการเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจากลิเธียมแบบ prospective ในกลุ่มประชากรที่มากขึ้น เพื่อหาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะผิดปกติในเชิงสถิติต่อไป

Keywords: lithium, ลิเธียม, ต่อมไทรอยด์, ไทรอยด์ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ, อุบัติการณ์, ยา, การรักษาทางจิตเวช, ระดับยาลิเธียมในเลือด, ต่อมไทรอยด์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา จ.ชลบุรี, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา

Code: 20050000524

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: