ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มะลิ ชูโต

ชื่อเรื่อง/Title: การเปรียบเทียบการทำหน้าที่ครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชที่พยายามฆ่าตัวตายซ้ำกับผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่พยายามฆ่าตัวตายซ้ำ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 52.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ซึ่งยังเป็นรองประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศก็ตาม แต่แม้เพียงหนึ่งคนที่ฆ่าตัวตายก็เป็นการสูญเสียของครอบครัว และสังคมอย่างประมาณค่าไม่ได้ การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ ศึกษาเปรียบเทียบการทำหน้าที่ครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชที่พยายามฆ่าตัวตายซ้ำ และไม่พยายามฆ่าตัวตายซ้ำ โดยศึกษาผู้ป่วยจิตเวชที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย จากข้อมูลการสำรวจของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เมื่อปี 2546 จำนวน 142 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือแบบสัมภาษณ์ ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งประกอบด้วย เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ สถานภาพสมรส จำนวนสมาชิกในครอบครัว บทบาทในครอบครัว ส่วนที่ 2 เป็นแบบประเมินการทำหน้าที่ครอบครัวประกอบด้วยข้อคำถาม 36 ข้อ ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป คำนวณหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ t-test, F-test เปรียบเทียบความแตกต่างของการทำหน้าที่ครอบครัวของประชากรทั้ง 2 กลุ่ม การทดสอบ Chi-square ที่ระดับความเชื่อมั่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ผลการศึกษา พบว่าผู้ป่วยจิตเวชที่พยายามฆ่าตัวตายซ้ำส่วนใหญ่เป็นหญิงร้อยละ 73.3 อายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 33.3 การศึกษาประถมศึกษาร้อยละ 33.3 ว่างงานร้อยละ 33.3 สถานภาพสมรสโสดร้อยละ 46.7 รายได้พอใช้ร้อยละ 60.0 สมาชิกในครอบครัว 4-6 คน ร้อยละ 80.0 บทบาทในครอบครัวเป็นบุตรร้อยละ 60.0 ผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นหญิงร้อยละ 62.3 อายุ 37-48 ปี ร้อยละ 37.7 รายได้พอใช้ร้อยละ 75.5 สมาชิกในครอบครัว 4-6 ร้อยละ 47.2 บทบาทในครอบครัวเป็นบุตรร้อยละ 47.2 ทั้งสองกลุ่มมีการทำหน้าที่ครอบครัวด้านบทบาท และด้านการควบคุมพฤติกรรม แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด (P-value 0.05) ส่วนปัจจัยด้านอื่นๆ ไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นในการดูแลผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายจึงควรสนับสนุนสมาชิกในครอบครัวให้มีความรับผิดชอบบทบาทของตนไม่ขาดตกบกพร่องและมีกฏเกณฑ์สำหรับประพฤติปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันอันเป็นที่ยอมรับในครอบครัว

Keywords: ฆ่าตัวตาย, ครอบครัว, ผู้ป่วยจิตเวช, สังคม, พฤติกรรม, หน้าที่

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Code: 2005000053

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -