ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กรเกศ พรหมดี

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัจจัยเสี่ยงทางจิตสังคมต่อการเป็นโรคจิตจากยาบ้า

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 110. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การแพร่ระบาดของยาบ้ามีความรุนแรงขึ้น การเสพยาบ้าในขนาดสูง อาจทำให้เป็นโรคจิตจากยาบ้าได้ จากสถิติการรักษาของผู้ป่วยจากยาบ้าแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ปี พ.ศ. 2543-2545 มีอัตราเฉลี่ยถึงร้อยละ 14.50 เป็นแนวโน้มที่ค่อนข้างสูง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จะเกิดปัญหาทั้งต่อตนเอง ชุมชนต่อไป ดังนั้นการวิจัยเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้อัตราป่วยทุพพลภาพจากโรคลดลง นำไปสู่การลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป วัตถุประสงค์ เป็นวิจัยแบบเชิงพรรณนาตัดขวาง (Cross-sectional Descriptive Analytic Study) เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงทางจิตสังคมที่มีผลต่อผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้า และหาแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้า ขอบเขตการวิจัย โดยศึกษาจากผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้าในโรงพยาบาลจิตเวช 8 แห่ง จำนวน 180 คน คัดเลือกตัวอย่างเป็นแบบเจาะจง (Purpose Sampling) ระหว่างตุลาคม 2544-พฤษภาคม 2545 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์จำนวน 3 ชุด คือ 1) ข้อมูลส่วนบุคคล 2) ข้อมูลเกี่ยวกับการเสพยาบ้า และ 3) ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยทางจิตสังคม และวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม SPSS/FW version 10.07 สถิติที่ใช้ คือสถิติเชิงพรรณนา ใช้สถิติ Chi-square (?2) Pearson correlation และ Odds Ratio at 95% Confidence Interval สรุปผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคจิตจากยาบ้า คือ ความถี่ในการเสพช่วง 3 เดือน มากกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตจากยาบ้าสูงกว่าการเสพน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ (OR=0.5 และ 95% CI : 0.1 ถึง 0.6) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ .01 และมีการรังเกียจในครอบครัวมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตจากยาบ้าสูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีการรังเกียจ (OR=2.5 และ 95% CI : 1.1 ถุง 5.5) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ .01 ข้อเสนอแนะ กลุ่มตัวอย่างปัจจัยเสี่ยงทางจิตสังคมที่มีผลต่อการเป็นโรคจิตจากยาบ้า มีเพียง 2 ตัว คือความถี่ในการเสพยาบ้าในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา และมีการรังเกียจในครอบครัว ดังนั้นจึงควรให้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่กลุ่มเสี่ยงต่อการติดยาบ้า ให้ทราบถึงโทษภัยของยาบ้า เมื่อเสพยาบ้าในปริมาณและความถี่สูงจะเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตได้สูงขึ้นด้วย ควรส่งเสริมรูปแบบความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัวกับผู้ป่วยโรคจิตจากยาบ้า เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตจากการเสพยาบ้า สำหรับเป็นแนวทางการป้องกันปัญหาการเกิดโรคจิตจากยาบ้า ควรเฝ้าระวัง ติดตาม และให้การช่วยเหลือแบบทางจิตสังคมกับผู้เสพยาบ้าในครอบครัวอย่างจริงและต่อเนื่อง ตลอดจนการให้มีส่งเสริมป้องกันในชุมชนต่อไป

Keywords: ยาบ้า, โรคจิต, จิตสังคม, ยาเสพติด, สารเสพติด, โรคจิตจากยาบ้า, กลุ่มเสี่ยง, amphetamine, psychosis, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000019

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -