ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภินันท์ อร่ามรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสถานภาพเร่งด่วนอุปทาน-อุปสงค์สารเสพติด : 24 มีนาคม-4 เมษายน 2546.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 52-61. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

ตัวอย่างการศึกษาคัดเลือกประชากรที่เข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาล และค่าย ใน 17 จังหวัด จำนวน 3,066 คน มากกว่าร้อยละ 90 เป็นชายอายุอยู่ระหว่าง 15-44 มากกว่าร้อยละ 80 ภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีนักเรียนนักศึกษาเข้ารับการรักษามากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลาง และภาคใต้เป็นประชากรที่มีงานประจำมากกว่าครึ่ง ผู้ซึ่งเข้ารับการรักษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณร้อยละ 10 รายงานว่าไม่เคยใช้สารเสพติดใดๆ เลย ผู้ไม่เคยใช้สารเสพติดในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้มีประมาณร้อยละ 3-4 ผู้เข้ารับการรักษามากกว่าครึ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประสบการณ์เคยใช้สารเสพติด 3 ชนิด หรือมากกว่า กัญชา เฮโรอีน ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท สารระเหย มีใช้มากในกลุ่มกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยาบ้ามีมากเท่าๆ กัน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาค ประมาณร้อยละ 60 ส่วนยาแก้ไอและกระท่อมมีผู้ใช้น้อยกว่า ร้อยละ 5 แต่เกือบทั้งหมดอยู่ในภาคใต้ การใช้สารเสพติดในเดือนมกราคมของกลุ่มผู้ที่เคยใช้สารฯ ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 2 และลดลงเหลือเพียง 1 ใน 4 ในระยะ 30 วันก่อนการสัมภาษณ์ (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2546) รายงานเชิงคุณภาพบ่งว่ายังมีผู้เสพอีกมากพอควรซึ่งมิได้เข้ามารับการรักษาเนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น ยังสามารถหาสารเสพติดได้ กลัวการฆ่าตัดตอน หรือปรับพฤติกรรมการเสพไปใช้สารอื่นๆ "แก้ขัด" หรือบางส่วนเปลี่ยนไปใช้ยาผสมมากกว่า 1 ชนิด หรือเปลี่ยนไปใช้สารอื่นๆ เช่น สุรา เบียร์ สารระเหย ยานอนหลับ เป็นต้น ผู้เข้ารับการรักษามากกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยกับนโยบายการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติด การทำงานแบบเร่งด่วนทำให้มีผู้เข้ารับการรักษามากมายในระยะเวลาอ้นสั้น ระบบการดำเนินการรักษาในภูมิภาคมีศักยภาพไม่เพียงพอรองรับภารกิจ ทำให้บริการไม่ได้มาตรฐาน อาทิ การคัดกรองผู้เข้ารับการรักษาไม่ถูกต้อง เช่น มีผู้ไม่เคยเสพสารเสพติด ผู้ที่เลิกเสพสารเสพติดแล้วเป็นระยะเวลานาน และผู้ค้าประปนเข้ามารับการรักษาด้วย เจ้าหน้าที่ให้บริการรักษาขาดความรู้และทักษะ เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานโดยปัจจุบัน มิได้รับความรู้และการอบรมในการดูแลรักษาผู้ติดสารเสพติดมาก่อน นโยบายการปราบปรามผู้ค้ายาอย่างจริงจังมีผู้เห็นด้วยมากกว่าร้อยละ 90 ศึกษาเปรียบเทียบจำนวนแหล่งที่ซื้อของผู้เสพคนเดียวในระยะเวลาระหว่างกุมภาพันธ์-มีนาคม กับจำนวนแหล่งในเดือนมกราคม จำนวนแหล่งซื้อปลีกยาบ้าในภาคใต้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สำหรับภูมิภาคอื่นๆ ยังคงเดิม ร้อยละ 50-70 ส่วนเฮโรอีนและกัญชา เกือบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย การเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างชัด คือ ราคายาบ้าเพิ่มขึ้นต่อเม็ดในภาคกลางและภาคใต้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 60 ส่วนในภาคตะวันอกเฉียงเหนือ ราคา ยาบ้าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 17 ซึ่งหมายความว่า ยังมีผู้เสพยาบ้าทั่วประเทศอีกจำนวนมากพอสมควรที่สามารถซื้อยาบ้าได้ในราคาเดิม ข้อสังเกตที่น่าสนใจ ผู้เสพเฮโรอีน ประมาณ 3 ใน 4 ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลางซื้อเฮโรอีนแพงขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ยาบ้าซึ่งจำหน่ายปลีกส่วนใหญ่ผู้เสพรายงานว่าคุณภาพลดลง และมีรายงานการผลิตยาปลอมออกสู่ตลาดด้วย มีรายงานจากทุกภูมิภาคว่าการจับกุมผู้ค้าในพื้นที่ ไม่ครอบคลุมผู้ค้ารายใหญ่ และกลุ่มผู้ค้าที่มีอิทธิพล และ/หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินงานป้องกันแก้ไขในอนาคต * กระบวนการสืบค้นและคัดกรองผู้เสพและผู้ติดสารเสพติด ควรปรับปรุงการดำเนินงานให้มีความชัดเจนขึ้น * ควรเร่งส่งเสริมศักยภาพในการให้บริการรักษาให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เข้ารับการรักษา หลักสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณา คือ ชนิดของสาร ความรุนแรงของการติด ความต้องการพื้นฐานของผู้เสพและผู้ติด ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม * มีผู้เข้ารับการรักษาจำนวนมากที่พอใจความรู้เกี่ยวกับสารเสพติดที่ได้รับจากระบบบริการ ซึ่งบ่งว่ากระบวนการให้ความรู้ในด้านนี้แก่ประชาชนยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั่วถึง และมีเนื้อหาสาระไม่เพียงพอ จึงควรพิจารณาการให้ความรู้เกี่ยวกับสารฯ ในอนาคตให้ตอบสนองตรงความต้องการ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเสพสารฯ * การดูแลช่วยเหลือผู้เสพและผู้ติดที่เข้ามารับบริการรักษาระยะยาว เป็นภาระหนักที่ควรเร่งรีบพัฒนาให้มีประสิทธิภาพพร้อม โดยคำนึงว่าควรป้องกันผลกระทบต่อภารกิจหลักขององค์กรด้วย * ข้อคิดเห็นจากผู้เข้ารับการรักษาจำนวนมากเห็นพ้องกันว่า ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการควบคุมระบบการค้าที่ส่งผลระยะยาว ให้ไม่มีการจำหน่ายปลีกในชุมชน จะเป็นมาตรการป้องกันการเสพสารฯที่ดีที่สุด * ควรพิจารณาตรวจสอบกระบวนการปราบปรามการจำหน่าย และปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมเป้าหมายเพียงพอที่จะลดการแพร่กระจายสารเสพติดในชุมชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สารเสพติดที่มีแพร่หลายอยู่ในประเทศมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีกลุ่มประชากรที่เข้าไปเกี่ยวข้องต่างกัน ประชากรบางส่วนเกี่ยวข้องกับสารเสพติดหลายชนิด บางส่วนเกี่ยวข้องกับสารฯชนิดเดียว ดังนั้นกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติดจึงมิควรจำกัดอยู่เฉพาะสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งนี้เพราะการดำเนินงานจำเพาะสารชนิดหนึ่งจะมีผลกระทบสู่ระบบจำหน่าย และเสพของสารฯ ทุกชนิด ทำให้ผลรวมของปัญหาสารเสพติดเปลี่ยนแปลงลักษณะรวดเร็ว และซับซ้อนยิ่งขึ้น

Keywords: อุปทาน, อุปสงค์, สารเสพติด, ยาเสพติด, ค่าย, สถานพยาบาล, นักศึกษา, ยาบ้า, ค่ายยาเสพติด, พฤติกรรม, นักเรียน, กลุ่มเสี่ยง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Code: 0000002

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -