ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กัลญา แก้วอินทร์, ชีวรัตน์ ต่ายเกิด, บุษริน เพ็งบุญและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การกระทำทารุณกรรมต่อเด็กในครอบครัวของนักเรียนชั้นประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสิงห์บุรี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 55-56.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัวที่นับวันจะพบมากขึ้น ส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้แบบอย่างการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา จนกลายเป็นสายโซ่วงจรของความรุนแรง ก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อครอบครัวและสังคม และพบว่ามีเด็กที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง แอบแฝงอยู่ในครอบครัวเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่ทราบขนาดที่แท้จริงของปัญหา วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทารุณกรรมต่อเด็กในครอบครัวของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสิงห์บุรี ขอบเขตการวิจัย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสิงห์บุรี จำนวน 5,749 คน ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลหนึ่ง จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 276 คน ซึ่งได้จากการคำนวณขนาดตัวอย่างโดยการประมาณสัดส่วน และสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน ศึกษาการกระทำทารุณกรรมใน 2 ลักษณะ คือ การกระทำทารุณกรรมทางร่างกาย ทางจิตใจและการทอดทิ้ง ตัวแปรในการศึกษาประกอบด้วย ปัจจัยด้านตัวเล็ก ได้แก่ เพศ อายุ ลำดับการเกิด ภาวะสุขภาพ ผู้ดูแลหลักและผู้มีส่วนร่วมในการดูแล ปัจจัยด้านครอบครัว ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส รายได้ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด การเล่นการพนันของผู้ปกครอง ประเภทของครอบครัว และปัจจัยด้านจิตสังคม ได้แก่ การทำหน้าที่ของครอบครัว เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแบบสอบถามปัจจัยด้านตัวเด็กและครอบครัว การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก และการทำหน้าที่ของครอบครัว Chulalongkorn family inventory CFI เก็บข้อมูลจากเด็กและผู้ปกครองระหว่างวันที่ 3 มิถุนายน -14 กรกฎาคม 2547 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย สถิติไค-สแควร์ และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน สรุปผลการวิจัย พบความชุกของการกระทำทารุณกรรมโดยรวม ร้อยละ 25.7 โดยพบความชุกของการกระทำทารุณกรรมทางร่างกาย ร้อยละ 18.1 ทางจิตใจและการทอดทิ้งร้อยละ 19.2 ตามลำดับ ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการกระทำทารุณกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่ การดื่มสุราของผู้ปกครอง (p‹.001) การเล่นการพนันของผู้ปกครอง (p<.05) ประเภทของครอบครัว (p<.05) และการทำหน้าที่ของครอบครัว (p<.05) โดยพบการกระทำทารุณกรรมมีความสัมพันธ์ทางลบกับการทำหน้าที่ของครอบครัวด้านการทำหน้าที่ทั่วไป (r=-.146, p<.05) และด้านความผูกพันทางอารมณ์ (r=-.161, p<.01) ข้อเสนอแนะผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ยังมีการกระทำทารุณกรรมในอัตราที่มาก จึงควรมีการเฝ้าระวังโดยการสร้างความร่วมมือขององค์กรภาคี ระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาล เพื่อเป็นเครือข่ายการดูเด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรม ส่งเสริมให้ชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มครอบครัวเพื่อยุติความรุนแรง เสริมสร้างความอบอุ่นของสถาบันครอบครัว พร้อมทั้งรณรงค์อย่างจริงจังในการลด ละ เลิก การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

Keywords: เด็ก, ครอบครัว, ทารุณกรรม, ความรุนแรง, สังคม, นักเรียน, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสิงห์บุรี, สุขภาพจิต, ความชุก, ทารุณเด็ก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

Code: 2005000055

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในที่ประชุมวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ

Download: -