ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัญชุลี ประคำทอง

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ป้องกันภัยยาเสพติด

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 113. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

จากข้อเท็จจริงที่ว่า บุคคลส่วนใหญ่ที่เข้าไปยุ่งกับยาเสพติดนั้น มักมีปัญหาทางด้านจิตใจที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในทางที่เหมาะสมได้ ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้แก่บุคคลจึงเป็นการป้องกันปัญหายาเสพติดที่ตรงที่สุด กิจกรรมของโครงการ To Be Number One เป็นกิจกรรมที่เน้นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจแก่คนในชุมชน โดยการถ่ายทอดความรู้และเสริมทักษะให้แก่กลุ่มแกนนำชุมชนและแกนนำครอบครัว เพื่อให้ทำหน้าที่สนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตให้แก่คนในชุมชนและสามารถให้การช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากยาเสพติดมามีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน อันจะเป็นการป้องกันปัญหายาเสพติดในอนาคต ซึ่งโครงการนี้มี วัตถุประสงค์ ให้กลุ่มแกนนำชุมชน แกนนำครอบครัวได้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตของคนในชุมชน รวมทั้งให้มีทักษะในการช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้คนในชุมชนปลอดภัยจากยาเสพติด กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือกลุ่มแกนนำชุมชน และแกนนำครอบครัว ชุมชนละ 20 คน ทั้งหมด 900 คน ดำเนินการในชุมชนเขตอำเภอเมืองมหาสารคาม 45 ชุมชน ซึ่งแบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ขั้นตอน เริ่มจากการเตรียมเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเครือข่ายโรงพยาบาลมหาสารคาม 29 แห่ง ในเรื่องการให้มีทักษะของการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดหากิจกรรมที่เหมาะสมกับชุมชน ขั้นตอนที่ 2 มีการเตรียมชุมชนโดยอบรมความรู้ทักษะเบื้องต้นในการให้การช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต แล้วมอบหมายให้ชุมชนดำเนินการตามกิจกรรมด้วยตนเอง ขั้นตอนที่ 3 สนับสนุนการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ปรึกษาในการจัดกิจกรรม ขั้นตอนที่ 4 การติดตามประเมินผลและเสริมสร้างกำลังใจให้ดำเนินกิจกรรม จากการประเมินผลพบว่าสามารถจัดตั้งชมรม To Be Number One ได้ 45 ชมรม มีสมาชิก 22,500 คน มีกิจกรรมที่สมาชิกชมรม เห็นชอบ 5 กิจกรรม ได้แก่ การออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิก การจัดกีฬาต้านยาเสพติด การให้ความรู้เรื่องยาเสพติดผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน การเสริมอาชีพเสริมรายได้ การพัฒนาหมู่บ้านให้น่าอยู่ จากผลการดำเนินงานนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาทบทวนถึงประโยชน์และวิธีการดำเนินงานที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป ภายใต้แนวคิดชุมชนเป็นเจ้าของปัญหา กิจกรรมทุกกิจกรรมต้องมาจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อให้นำไปสู่การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนต่อไป

Keywords: To Be Number One, ยาเสพติด, สารเสพติด, กิจกรรม, ชุมชน, สุขภาพจิต, แกนนำชุมชน, ปัญหายาเสพติด,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: กลุ่มงานสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลมหาสารคาม

Code: 00000022

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -