ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: การบริหารจัดการระบบการคลัง โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปีแรกของการดำเนินงาน : กรณีศึกษาสี่จังหวัด

แหล่งที่มา/Source: รวมบทคัดย่อวารสารวิชาการสาธารณสุข ปีที่ 12, หน้า 328-329.

รายละเอียด / Details:

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินกระบวนการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ในจังหวัดนำร่องระยะที่หนึ่งและสอง คือ สมุทรสาคร ภูเก็ต สุโขทัย และอุบลราชธานี ในประเด็นรูปแบบและการบริหารจัดการระบบคลังสาธารณสุขของจังหวัดและผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ คือ การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารโครงการระดับจังหวัด และสนทนากลุ่มผู้บริหารเครือข่ายและกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ทุกระดับ เก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2544 ถึงมกราคม 2545 กลุ่มต่างๆ มองว่า ภาคข้าราชการประจำสอดแทรก โดยภาคการเมืองสนับสนุนและก่อปัญหาในการดำเนินงานมากที่สุดเมื่อเทียบกับองค์ประกอบอื่น รูปแบบการจัดสรรงบประมาณเป็นรายหัวให้กับจังหวัดหรือเครือข่าย โดยปราศจากการปฏิรูประบบอื่นๆร่วมด้วย ไม่สามารถทำให้เกิดการเกลี่ยบุคลากรระหว่างภูมิภาค จังหวัดหรือระหว่างเมืองและชนบทได้ภายในระยะสั้นนี้ และส่งผลลบค่อนข้างมากต่อจังหวัดที่มีจำนวนบุคลากรสาธารณสุขมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร รูปแบบการจ่ายเงินให้เครือข่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวรวมงบบริการผู้ป่วยนอกและใน (inclusive capitation) ส่งผลทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างโรงพยาบาลต่อการเข้าถึงบริการและต่อคุณภาพบริการที่ประชาชนได้รับ โดยเฉพาะในจังหวัดที่ความสัมพันธ์เดิมระหว่างเครือข่ายไม่ดีอยู่ก่อนแล้วและขาดแคลนงบประมาณในภาพรวม ส่วนรูปแบบการจัดสรรเงินสำหรับบริการผู้ป่วยในตามน้ำหนักสัมพันธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs weight global budget) ทำให้มีการรับผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาลมากขึ้นงบประมาณที่ได้รับจัดสรรต่ำกว่าต้นทุนบริการและไม่จูงใจให้โรงพยาบาลพัฒนาศักยภาพบริการเพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการและคุณภาพบริการน้อยกว่าแบบรวมงบบริการผู้ป่วยนอกและในการจัดสรรเงินตามรายหัวสำหรับบริการส่งเสริมป้องกันแก่เครือข่ายและสถานบริการ ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการบริการ นอกจากนี้การที่แต่ละเครือข่ายกำหนดรูปแบบการจัดสรรเงินภายในเครือข่ายกันเอง ก่อให้เกิดความสับสนแก่เจ้าหน้าที่ และทำให้สถานีอนามัยในเครือข่ายที่ขาดแคลนงบประมาณ ประสบปัญหาในการจัดบริการ เพื่อให้ระบบสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การจัดสรรงบประมาณให้จังหวัด ควรมีระยะเปลี่ยนผ่านโดยนำปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานมาพิจารณา ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการเสริมด้านกำลังคนที่เป็นรูปธรรม รูปแบบการจ่ายเงินแบบแยกงบบริการผู้ป่วยนอกและใน (exclusive capitation) และตัดเงินเดือนที่ระดับเหนือเครือข่าย อาจเหมาะสมกว่าเพราะมีผลกระทบต่อประชาชนน้อย การจัดสรรเงินภายในเครือข่ายควรเป็นรูปแบบเดียวกัน ภายในจังหวัดและผสมผสานระหว่างค่าใช้จ่ายพื้นฐานและตามปริมาณบริการ ขณะที่การจัดสรรเงินสำหรับบริการส่งเสริมป้องกันควรเป็นไปตามปริมาณบริการ

Keywords: การบริหารจัดการระบบคลังสาธารณสุข, ระบบการคลัง, โครงการหลักประกันสุขภาพ, 30 บาท, กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม, งบประมาณ, คุณภาพบริการ, บริการสุขภาพ, การปฏิรูป,การจัดสรรทรัพยากร, รูปแบบการจ่ายค่าบริการ, ความเป็นธรรม,การบริหารจัดการ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สำนักงานประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20050000594

ISSN/ISBN: 974-506-393-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: