ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมหญิง สายธนู

ชื่อเรื่อง/Title: การจัดการความรับผิดจากการรักษาทางการแพทย์

แหล่งที่มา/Source: รวมบทคัดย่อวารสารวิชาการสาธารณสุข ปีที่ 12, หน้า 323-324.

รายละเอียด / Details:

การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยทำให้อัตราการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้นในกรณีความผิดพลาดทางการแพทย์ (medical error) จึงจำเป็นต้องเข้าใจกลไกในการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหา และการชดเชยผู้ป่วยเมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจกลไกการจัดการความรับผิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ โดยการวิจัยเอกสารสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ร้องเรียนแพทย์และผู้บริหารในโรงพยาบาลเอกชน บริษัทประกันวินาศภัย การอภิปรายกลุ่มในโรงพยาบาลรัฐ การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาแนวทางและมาตรการรองรับที่เหมาะสมในการจัดการความรับผิดจากการรักษาทางการแพทย์ การศึกษาพบว่า รูปแบบในการฟ้องร้องเมื่อกรณีความผิดพลาดทางการแพทย์ขึ้น มี 3 แบบ คือ 1) การตกลงประนีประนอมยอมความกันในระดับโรงพยาบาลโดยผู้เสียหายจะได้รับการชดเชยในระดับที่ไม่เหมาะสมนัก 2) การร้องเรียนอย่างเป็นทางการ โดยผ่านองค์กรที่ไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย และ/หรือ 3) การร้องเรียนอย่างเป็นทางการ โดยผ่านหน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายโดยตรง เพื่อจัดการความรับผิดทางจริยธรรมทางการแพทย์ การรับผิดทางละเมิดและอาญา การร้องเรียนโดยผ่านหน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายโดยตรงนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับความล่าช้าในการบวนการพิจารณาตัดสิน ในกระบวนการทางศาล ผู้ฟ้องต้องแบกภาระในการพิสูจน์ มีค่าใช้จ่างสูง และยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน การชดเชยค่าเสียหายที่ชัดเจน ผู้ที่เข้าถึงระบบการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางหรือสูงกว่า และมีคนรู้จักที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหน่วยงานดังกล่าว ผู้บริโภคทั่วไปโดยเฉพาะที่มีฐานะยากจนจะเข้าถึงกลไกในการจัดการความรับผิดชอบนี้ได้ยาก แพทยสภาเป็นผู้มีส่วนเสียที่มีอำนาจตามหน้าที่ตามกฎหมาย ความชอบธรรมในการจัดการเรื่องนี้ และมีความสนใจต่อปัญหา จึงเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีปัจจัยครบสามองค์ประกอบ (definitive stakeholder) จุดอ่อนที่สำคัญของแพทยสภาคือ ความล่าช้าในการบริหารความรับผิดชอบทางจริยธรรมของแพทย์ และถูกตั้งข้อสงสัยจากสังคมว่าปกป้องวิชาชีพเดียวกันเอง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ควรผลักดันให้วิธีประนีประนอมกันในระดับโรงพยาบาลมีระบบและมีลักษณะกึ่งทางการมากขึ้นรวมทั้งจัดให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย และมีหน่วยงานที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับในการเจรจากับผู้ป่วย โดยรัฐเองจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์การชดเชยค่าเสียหายให้มีมาตรฐานเดียวกันและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งตรงกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 มาตรา 41

Keywords: ความผิดพลาดทางการแพทย์, กฎหมาย, การร้องเรียน, ความรับผิดจากการรักษาทางการแพทย์, จริยธรรมแพทย์, ความรับผิดทางแพ่ง, นโยบาย, กระบวนการทางศาล, ความรับผิดทางอาญา, ประกันทุรเวชปฏิบัติ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

Code: 20050000596

ISSN/ISBN: 974-506-393-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: