ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุพัฒนา สุขสว่าง, ศิริลักษณ์ สว่างวงศ์สิน

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาตราบาปในผู้ป่วยจิตเภท

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 69-70.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัญหาโรคทางจิตเภทที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย ส่งผลกระทบต่คุณภาพชีวิตและทำให้ต้องทนอยู่กับความทุกข์ทรมานจากโรค มีการสูญเสียหน้าที่การทำงานของจิตใจถึงระดับที่ทำให้เสียความสามารถในการหยั่งรู้ ความสามารถที่จะสนองความต้องการที่จำเป็นในการดำรงชีวิตหรือความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมต่างๆที่อยู่ในกรอบของความเป็นจริงเมื่อถูกวินิจฉัยว่าป่วยทางจิตผู้ป่วยถูกตราหน้าตั้งแต่วินาทีนั้นว่าเป็นผู้ป่วยโรคจิตเป็นตราบาปที่ติดตัวผู้ป่วยไปตลอดชีวิตเปรียบเสมือนแผลเป็นบนใบหน้าที่ไม่สามารถเลื่อนได้การบำบัดรักษาโรคจิตในปัจจุบันมีความทันสมัยมากขึ้น สามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยให้สงบและน่าจะดำรงชีวิตใน ครอบครัวและสังคมได้อย่างมีความสุข แต่ในปัจจุบันพบว่า คนในชุมชนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผ็ป่วยจิตเวช เป็นอันตรายน่ากลัว จึงพยายามหนีห่าง ไม่เข้าใกล้ ไม่ยอมรับหรือบางครั้งเห็นผู้ป่วยเป็นตัวตลก ล้อเลียนผู้ป่วย ไม่ให้เกียรติเป็นการสร้างตราบาป ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการสงบแล้ว และยังคงมองว่าผู้ป่วยเป็นบุคคลที่ไม่ควรคบค้าสมาคมด้วย นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษาการปฏิบัติต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาล รูปแบบการให้บริการที่ เข้มงวด ไม่ยืดหยุ่นหรือไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยตลอดจนการปฏิบัติต่อผู้ป่วยของบุคลากรในโรงพยาบาลรวมถึงภาพลักษณ์ของบุคลากรโรงพยาบาลจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งถูกลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ไร้ศักดิ์ศรีมองตนเองไม่มีค่า วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลกระทบของตราบาปในผู้ป่วยจิตเภทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวชุมชน และสถานบริการ ขอบเขตของการวิจัย ศึกษาในกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ป่วยจิตเภท ได้แก่ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคทางจิตเภท (Schizophrenia) ผู้ป่วยที่มารับบริการจากโรงพยาบาลจิตเวชศรีธัญญา มีอาการป่วยมานาน อย่างน้อย 6 เดือนและเคยรับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล 20 ราย 2. ครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช ได้แก่ ผู้ดูแลหลักที่ดูแลผู้ป่วยมากที่สุด และดูแลผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไปสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยเป็นญาติหรือผู้ดูแลหลักของผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างและดูแลผู้ป่วยมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน จำนวนครอบครัวละ 1-2 คน 3. ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกับผู้ป่วย สุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จำนวน 1-2 คน ต่อผู้ป่วย 1 ราย ต่อ 1 ชุมชนที่ศึกษา 4. บุคลากรสถานบริการสาธารณสุข ได้แก่บุคลากรในสถานบริการระบบบริการสาธารณสุขในชุมชนที่ศึกษา และบุคลากรในโรงพยาบาลศรีธัญญา สุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล และผู้ช่วยเหลือคนไข้ ระเบียบวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อเก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีสัมภาษณ์รายบุคคลแบบเจาะลึก (in-depth interview) ร่วมกับการบันทึกเทป แปลความ ถอดความจากเทป นำมาวิเคราะห์และสรุปผล สรุปผลการวิจัย ผู้ป่วยจิตเภท คิดว่าการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่น่าอาย พยายามปกปิดการเจ็บป่วยของตนเองจากบุคคลอื่นๆการเจ็บป่วยส่งผลกระทบต่อตนเอง ทั้งในเรื่องของหน้าที่การงาน สถานะเศรษฐกิจ ความเชื่อถือของบุคคลอื่นๆรอบข้าง ไม่เป็นที่ต้องการของญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านและคนในชุมชน ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย ไม่ได้รับสิทธิเหมือนผู้ป่วยโรคอื่นๆ บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติต่อผู้ป่วยจิตเภทโดยไม่ให้เกียรติและไม่เคารพสิทธิของผู้ป่วย ครอบครัว/ผู้ดูแล ครอบครัว/ผู้ดูแลรู้สึกเสียขวัญจากการที่มีผู้ป่วยจิตเภทอยู่ในครอบครัว รวมทั้งไม่มีโอกาสหรือได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร ถูกตอกย้ำและซ้ำเติมเวลาที่พาผู้ป่วยที่อาการกำเริบมาโรงพยาบาลครอบครัว/ผู้ดูแลคิดว่าผู้ป่วยน่าสงสารมากกว่าเป็นภาระ กังวลใจกลัวว่าผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบ เมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบไม่รู้จะจัดการอย่างไร ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกับผู้ป่วย ส่วนใหญ่มีทัศนคติทางลบ ต่อผู้ป่วยจิตเวช หวาดกลัว ไม่คบค้าสมาคม ด้วยคิดว่าเป็นเรื่องของบาปกรรม เรื่องของโชคชะตา เป็นโรคที่อยู่เหนือธรรมชาติ เป็นการกระทำของพ่อแม่หรือของตัวผู้ป่วยทำไม่ดี ทำให้ไม่น่าสงสาร ในชุมชนจึงไม่ให้ผู้ป่วยเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชน บุคลากรสาธารณสุขในสถานีอนามัย /รพช / รพท รู้สึกว่าผู้ป่วยจิตเภทน่าสงสาร อยากให้การดูแลและช่วยเหลือ แต่ขาดทักษะและความรู้ในการประเมินอาการ/การพยาบาล/การฟื้นฟูสมรรถภาพ บุคลากรในโรงพยาบาลจิตเวช ในส่วนของผู้ให้การรักษามองว่าผู้ป่วยจิตเภทเป็นผู้ป่วยคนหนึ่งที่มารับการักษา/การช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม การรักษาทางจิตเวชเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดตราบาปที่รุนแรงกว่าการเจ็บป่วย เช่นอาการข้างเคียงของการรักษา การได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ ในส่วนของบุคลากรที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย มีทัศนคติทางลบต่อผู้ป่วย คิดว่าผู้ป่วยบางคนแกล้งแสดงอาการเพื่อเรียกร้องคาวมสนใจ ต้องพูดเสียงดังและขู่ผู้ป่วยกลัวและเชื่อฟัง รู้สึกเบื่อหน่ายในรายที่กลับมารักษาซ้ำ ข้อเสนอแนะ 1. ควรศึกษารูปแบบการส่งเสริมทักษะความเข้มแข็งในการปรับตัวแก่ผู้ป่วยจิตเภทและครอบครัว / ผู้ดูแล 2. ควรมีการให้ความรู้ทางจิตเวชแก่ชุมชนการสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช

Keywords: จิตเภท, ผู้ป่วย, โรคจิตเภท, คุณภาพชีวิต, พฤติกรรม, ครอบครัว, ทัศนคติ, ตราบาป, โรคจิต, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลศรีธัญญา

Code: 2005000062

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: