ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิตรประสงค์ สิงห์นาง, ณัฐิกา ราชบุตร

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินโครงการป้องกันปัญหาฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิต พ.ศ. 2547

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 76

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการและประสิทธิผลของโครงการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย วิธีการประเมิน เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา กลุ่มตัวอย่าง 1) ผู้ให้บริการที่สถานบริการสุขภาพทุกระดับใน 52 จังหวัดตัวอย่าง 2) ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและผู้ที่ทำร้ายตนเองที่มารับบริการ ณ สถานบริการทุกระดับ และผู้ที่ฆ่าตัวตายแต่ไม่ได้มารับบริการ การเก็บข้อมูล โดยวิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ 1) การใช้แบบสอบถาม 2) แบบสัมภาษณ์ 3) แบบเฝ้าระวังผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและทำร้ายตนเอง (รง.506.DS) แบบบันทึกข้อมูลจากมรณบัตร (มบ.1) และ 4) รายงานการจัดบริการจากสถานบริการ ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ 1) จำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า 2) จำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเอง 3) จำนวนผู้ที่เสียชีวิต 4) จำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเองมากกว่า 1 ครั้ง 5) จำนวนผู้ให้บริการและจำนวนหน่วยบริการสุขภาพที่มีการดำเนินการ และ 6) ความพึงพอใจของผู้ให้บริการต่อการดำเนินงานโครงการในจังหวัดของตน การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการประเมิน ด้านการบรรลุเป้าหมายของโครงการฯ พบว่า จำนวนผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากสถานบริการลดลง อัตราการทำร้านตนเองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ มีแนวโน้มลดลง เป็น 6.9 ต่อแสนประชากร สถานบริการสาธารณสุขจัดให้มีคลินิกให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตครบตามเป้าหมายร้อยละ 90 มีระบบการนัดหมาย ระบบการเยี่ยมบ้าน และระบบการส่งต่อ อย่างชัดเจน สูงกว่าผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บุคลากรสาธารณสุขมีความมั่นใจต่อทักษะการให้คำปรึกษาของตนเองในระดับปานกลางถึงมาก มีความพึงพอใจ ต่อการดำเนินงานโครงการฯ ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ด้านที่พอใจมากคือ ประโยชน์ของแบบตรวจคัดกรองภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย บุคลากรจังหวัดต่างๆ เกือบทั้งหมด เห็นว่าควรมีการดำเนินโรงการการป้องกันการฆ่าตัวตายในปีต่อไป คิดเป็นร้อยละ 99 อภิปรายและข้อเสนอแนะ ผลการดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์เป็นส่วนใหญ่ ประเด็นที่ควรพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ระบบการเฝ้าระวัง 2) การส่งเสริมการศึกษาวิจัยในระดับพื้นที่ 3) การพัฒนาบุคลากรด้านการให้คำปรึกษาเชิงลึก และ4) การผลักดันให้เป็นนโยบายระดับประเทศ

Keywords: ฆ่าตัวตาย, การป้องกัน, ภาวะซึมเศร้า, ความเสี่ยง, ปัญหาสุขภาพจิต, โครงการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, จิตเวชชุมชน, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 2005000066

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: