ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: น.พ.ธรณินทร์ กองสุข,อัจฉรา จรัสสิงห์,เนตรชนก บัวเล็กและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ความเครียดของคนไทย: การศึกษาระดับชาติ ปี 2546

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 79-80.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ประเทศไทยในสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของประชากร สภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ด้วยผลกระทบจากการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม โครงสร้างอาชีพและการทำงานของประชาชนไทยเปลี่ยนไป เกิดแรงงานอพยพย้ายถิ่น สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความเครียดอยู่ในระดับสูงและเป็นเวลานานได้ เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขหรือช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจะนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพทางกายและทางจิต ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงาน ความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมการแสดงออก บางคนอาจถึงกับทำร้ายตนเอง กรมสุขภาพจิต ในฐานะกรมวิชาการ ได้ตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ด้านจิตใจของประชาชน วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาระดับความเครียดของประชาชนไทย 2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของประชาชนไทยระเบียบวิธีวิจัย เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ภาคตัดขวาง ประชากรที่ศึกษา คือ ผู้ที่มีอายุ 15 – 59 ปีในพื้นที่ 4 ภาค และกรุงเทพมหานคร ที่สามารถติดต่อสื่อสารได้ด้วยการพูดและการได้ยิน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ stratified three – stage cluster sampling ในพื้นที่ 4 ภาค ส่วนกรุงเทพมหานครใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ stratified two – stage cluster sampling ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 10,660 คน เครื่องมือที่ใช้ เป็นแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบแบบสอบถามเกี่ยวกับความเครียด และแบบวัดความเครียดสวนปรุง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยบุคลากรสังกัดกรมสุขภาพจิต ข้อมูลนำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปโดยใช้สถิติ ร้อยละ และไคสแควร์ ผลการศึกษา 1. ประชาชนส่วนใหญ่มีความเครียดอยู่ในระดับน้อย ( 58.7%: 95%cI= 57.77 – 59.63) ปัญหา/สาเหตุที่ทำให้เครียด 5 อันดับแรก คือ ปัญหาเศรษฐกิจ/ การเงิน ( 49.4%) ปัญหาครอบครัว ( 34.2%) เรื่องงาน (30.0%) เรื่องแฟน/คู่รัก (13.3%) และปัญหาเพื่อนร่วมงาน/ เพื่อนร่วมเรียน/ เพื่อน ( 10.5 %) มุมมองต่อปัญหาที่ทำให้เครียดส่วนใหญ่เห็นว่ามีทางออก ( 90.0%) วิธีการจัดการความเครียด 5 อันดับแรก คือ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ( 91.3 %) หางานอดิเรกทำ ( 89.1%) พูดระบายกับผู้อื่น ( 74.4%) ทำบุญตักบาตร/ ทำบุญทางศาสนา ( 65.5%) และออกกำลังกาย ( 60.1%) 2. ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทาง ที่ระดับ 0.05 ได้แก่ เพศ อายุ ศาสนา สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ สถานภาพทางการเงิน จำนวนห้องพักในบ้านการมีที่ดินเป็นของตนเอง เคยผ่าตัดหรือ ได้รับการบาดเจ็บที่ศรีษะ การเจ็บป่วยจนต้องไปพบแพทย์ ความกังวลกับความเจ็บป่วย 3. ปัจจัยด้านครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่จำนวนสมาชิกในครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสัมพันธ์ที่มีต่อแม่- พ่อ ต่อสามี/ ภรรยา การมีญาติป่วยด้วยโรคทางจิตเวช และความสัมพันธ์กับญาติที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช ข้อเสนอแนะ สาเหตุของความเครียด คือ ปัญหาการเงิน ครอบครัวและการงาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาอันสั้น และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ในการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาในเรื่องครอบครัว เช่น การส่งเสริมการเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

Keywords: ความเครียด, สุขภาพกาย, สุขภาพจิต, ความสัมพันธ์, ครอบครัว, พฤติกรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มงานระบาดวิทยาสุขภาพจิต กองสุขภาพจิตสังคม

Code: 2005000069

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: