ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พรเทพ ศิริวนารังสรรค์,ธรณินทร์ กองสุข, หม่อมหลวงยุพดี ศิริวรรณและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: คุณภาพชีวิตและภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี 2546

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 81-82.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขส่งผลให้ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น องค์การสหประชาชาติได้คาดการณ์ไว้ว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี พ.ศ 2563 จะมีผู้สูงอายุถึง 10.7 ล้านคน ( ร้อยละ 15 .3) สำหรับอายุที่คาดหวังเมื่อแรกเกิดของชายและหญิงไทยมีการเพิ่มขึ้นตลอด ในปี พ.ศ. 2558 - 2563 อายุคาดหวังเมื่อแรกเกิดในชายและหญิง จะอยู่ที่ 72.2 และ 76.5 ปี ตามลำดับลักษณะของสถาบันครอบครัวเปลี่ยนจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยวสภาพเช่นนี้ มีผลให้การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันลดลง ประกอบกับวัยนี้เป็นวัยแห่งความเสื่อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมซึ่งความเสื่อมถอยดังกล่าวมีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตและปัญหาทางจิตใจของผู้สูงอายุ ด้วยความตระหนักในคุณค่าของผู้สูงอายุ กรมสุขภาพจิตจึงได้ดำเนินการศึกษาคุณภาพชีวิตและภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนและดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุต่อไป วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย 2. เพื่อศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในประเทศไทย 3. เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระดับคุณภาพชีวิตและภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในประเทศไทย ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ภาคตัดขวาง ประชากรที่ศึกษา คือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในพื้นที่ 4 ภาค และกรุงเทพมหานคร ที่สามารถติดต่อสื่อสารได้ด้วยการพูดและการได้ยิน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ stratified three- stage cluster sampling ในพื้นที่ 4 ภาค ส่วนกรุงเทพมหานครใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ stratified two – stage cluster sampling ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 9,632 คน เครื่องมือที่ใช้ เป็นแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 20 ข้อ และแบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกฉบับภาษาไทย 26 ข้อ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขข้อมูลนำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปโดยใช้สถิติ ร้อยละ และไคสแควร์ ผลการศึกษา 1. ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับกลาง คือ ร้อยละ 73.5 เพศชายมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับดี ( ร้อยละ 29.5) สูงกว่าเพศหญิง ( ร้อยละ 20.6) 2. ผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 17.5 เพศชายมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 13.8 เพศหญิงมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 20.9 3. ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ศาสนา สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ความสามารถในการอ่านเขียน ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การประกอบอาชีพ อาชีพที่ทำ รายได้ ความเพียงพอของรายได้ สถานะทางการเงินปัจจัยทางจิตสังคม ได้แก่ การอยู่อาศัย การพึ่งพาผู้ดูแลในชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม การมีผู้มาปรึกษา/ปรับทุกข์ เหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สบายใจ ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด การมองเห็น การเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัว ความกังวลกับโรคหรือความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ การมีญาติป่วยด้วยโรคทางจิต มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ข้อเสนอแนะ คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกาย ด้านจิตใจ ด้านสัมพันธภาพทางสังคม ด้านสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า ควรจัดให้มีบริการเชิงรุกที่เข้าถึงตัวผู้สูงอายุในชุมชนและบ้าน โดยอาศัยเครือข่ายทางสังคม องค์กรท้องถิ่น เครือข่ายสาธารณสุขมูลฐานวัด เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ

Keywords: ซึมเศร้า, ภาวะซึมเศร้า, คุณภาพชีวิต, ผู้สูงอายุ, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มงานระบาดวิทยาสุขภาพจิต กองสุขภาพจิตสังคม

Code: 2005000070

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: