ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: หม่อมหลวงยุพดี ศิริวรรณ,อัจฉรา จรัสสิงห์, เนตรชนก บัวเล็ก, สตรีรัตน์ รุจิระชาคร

ชื่อเรื่อง/Title: คุณภาพชีวิตและความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 83.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล วัยรุ่นเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตคนเรา เป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ซึ่งชีวิตบั้นปลายจะราบรี่นหรือไม่เพียงพอย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของวัยนี้ไม่น้อย ผู้ที่ผ่านช่วงวัยรุ่นไปได้อย่างราบรื่น ย่อมพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถทำคุณประโยชน์นานาประการให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ปัจจัยที่สำคัญของการพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ คือ การมีสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดี กรมสุขภาพจิตตระหนักถึงความสำคัญข้างต้น จึงดำเนินการศึกษาคุณภาพชีวิตและความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของวัยรุ่นต่อไป วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของนักเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย 2. เพื่อศึกษาความเครียด และพฤติกรรมการเผชิญความเครียด ของนักเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย 3. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต และความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1– 6 ปีการศึกษา 2546 สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน ( Multi- stage cluster sampling ) จำนวน 18, 250 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 2) แบบวัดคุณภาพชีวิต 3) แบบวัดความเครียด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ แจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าไคสแควร์ ผลการศึกษา 1. นักเรียนมัธยมศึกษาส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตในระดับปานกลาง ร้อยละ 61 .8 2. นักเรียนมัธยมศึกษามีความเครียดในระดับสูง ร้อยละ 47.7 วิธีการแก้ไขปัญหา 5 อันดับแรก คือ 1) ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและหางานอดิเรกทำ ( ร้อยละ 88.7 เท่ากัน) 2 )นอน (ร้อยละ 77.4) 3) ออกกำลังกาย ( ร้อยละ 74.2) 4) พูดระบายกับคนอื่น ( ร้อยละ 74.0) 5)ไปหาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ( ร้อยละ 66.0) 3. ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว สถานภาพการเงิน การเจ็บป่วยจนต้องพบแพทย์ใน 1 ปีที่ผ่านมา ความวิตกกังวลเกี่ยวการเจ็บป่วย ปัจจัยด้านครอบครัว ได้แก่ บุคคลที่อาศัยอยู่ด้วย การช่วยเหลืองานบ้าน อาชีพของบิดา-มารดารายได้ของครอบครัวต่อเดือน สถานภาพการเงินของครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัว การเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัว และความวิตกกังวลกับการเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัวปัจจัยด้านการเรียน ได้แก่ ระดับชั้นที่ศึกษา แผนการเรียน การร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตร ความสัมพันธ์กับเพื่อน นักเรียน และความสัมพันธ์กับอาจารย์ผู้สอน/ อาจารย์ประจำชั้น มีความสัมพันธ์กับระดับคุณภาพชีวิตและความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

Keywords: ความเครียด, สุขภาพจิต, คุณภาพชีวิต, นักเรียน, พฤติกรรม, ความวิตกกังวล, ครอบครัว

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มงานระบาดวิทยาสุขภาพจิต กองสุขภาพจิตสังคม

Code: 2005000071

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: