ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: น.พ.ทวี ตั้งเสรี, ละเอียด ปัญโญใหญ่

ชื่อเรื่อง/Title: จากแม่น้ำโขงสู่อันดามัน: บทเรียนจากสายน้ำการปรับตัวต่อภาวะภัยพิบัติของผู้ประสบเหตุ 359 คน ในจังหวัดกระบี่ ในระยะเวลา 2 เดือน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 86-87.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากวิกฤตการณ์ธรณีพิบัติคลื่นยักษ์ "สึนามิ" เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ถือเป็นธรณีพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อบุคคลครอบครัวและชุมชนใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ตรัง และสตูล ต้องสูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือน เครื่องมือ อุปกรณ์อาชีพ และบุคคลอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆที่จะต้องกำพร้าบิดา มารดา ภัยพิบัติครั้งนี้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจของประชาชนผู้ประสบภัยอย่างชัดเจน โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์เป็นโรงพยาบาลหนึ่งที่มีหน้าที่ในการช่วยบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบภัยจากธรณีพิบัติเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตที่อาจเกิดขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อรายงานผลการศึกษาทางระบาดวิทยาของผู้ประสบเหตุธรณีพิบัติในจังหวัดกระบี่จำนวน 359 คน ในระยะเวลา 2 เดือน ขอบเขตการศึกษา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติ โดยการสูญเสียทรัพย์สิน สิ่งของ อาชีพ บุคคล อันเป็นที่รัก หรือครอบครัวของผู้ที่สูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่โรงพยาบาลไปออกหน่วยให้บริการในจังหวัดกระบี่ วิธีการดำเนินการ จัดทีมสุขภาพจิตออกหน่วยให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากธรณีพิบัติในจังหวัดกระบี่ จำนวน 359 คน โดยลงทะเบียนและคัดกรองสภาพสุขภาพทั่วไปด้วยแบบคัดกรอง GHQ –12( Generalized Health Questionnaires ) รวมทั้งได้รับการวินิจฉัยภาวะสุขภาพจิตขณะนั้นโดยจิตแพทย์ ตลอดจนได้รับการติดตามดูแลตลอด 2 เดือน เพื่อสังเกตการปรับตัว การฟื้นฟูตนเองและการดำเนินของภาวะทางสุขภาพจิต ในช่วงระยะดังกล่าว ผลการศึกษา ประชาชน จำนวน 359 คน อายุระหว่าง 5 – 82 ปี 49.9% เป็นกลุ่มอายุ 3 – 50 ปี อัตราส่วนชาย : หญิง = 1 : 2 อัตราส่วนศาสนาพุทธ : ศาสนาอิสลาม = 1 : 2 ส่วนใหญ่ทำอาชีพรับจ้างและการประมง ประชาชน 263 คน เสียทรัพย์สิน 137 คน สูญเสียอาชีพและ 118 คน สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ในระยะเวลา 1 เดือน แรก หลังประสบเหตุ พบว่า การคัดกรองด้วย GHQ สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่ม GHQ : 0 – 3 คะแนน จำนวน 119 คน พบว่า 98 % ของกลุ่มนี้ไม่พบภาวะร้ายแรงทางจิตเวช 2 . กลุ่ม GHQ : 4 – 8 คะแนน จำนวน 139 คน พบว่า 48 % สามารถปรับตัวได้ ไม่พบภาวะร้ายแรง แต่ 52 % ยังไม่สามารถปรับตัวได้ 3. กลุ่ม GHQ : 9 – 12 คะแนน จำนวน 16 คน พบว่า 100 % ของกลุ่มนี้ไม่สามารถปรับตัวได้ ในระยะเวลา 1 เดือน และพบภาวะอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับมีความคิดทำร้ายตนเอง และเมื่อติดตามที่ระยะเวลา 2 เดือน หลังเกิดธรณีพิบัติ พบว่า กลุ่ม GHQ 0 – 3 คะแนน 100 % สามารถปรับได้ดี กลุ่ม GHQ 4 – 8 คะแนน คะแนน 70 % สามารถปรับตัวได้ดี อีก 30 % ได้รับการส่งต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูและปรับตัวได้ดี กลุ่ม 9 – 12 คะแนน พบว่า 48 % สามารถปรับตัวได้ดีและ 52 % ยังคงอยู่ในภาวะพึ่งพิง มีภาวะวิตกกังวลซึมเศร้าและ 25 % ของกลุ่มนี้มีความคิดฆ่าตัวตายและทำร้ายตนเอง ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ดูแลเพื่อการสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูและปรับตัวต่อไป สรุป ธรณีพิบัติที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อประชาชนในรูปแบบต่างๆการใช้ GHQ–12 ในการคัดกรองทำให้สามารถจัดกลุ่มประชาชนเพื่อให้บริการทางจิตเวชได้ชัดเจน ตลอดจนมองเห็นเป้าหมายตรงประเด็นทำให้ไม่พบภาวะทางจิตใจที่ร้ายแรง หรือมีบุคคลฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเองในระยะเวลา 2 เดือนของการให้บริการ และคณะผู้ดูแลยังได้เรียนรู้ ความสามารถของประชาชนในการฟื้นฟูสภาพจิตใจและสภาพสังคม ความเป็นอยู่ที่ได้จากเหตุการณ์นี้ด้วย ข้อเสนอแนะ ได้รูปแบบการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งจะประสบผลสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกหน่วยงานในชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องพัฒนาความรู้และทักษะในการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้การดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในกลุ่มคนเหล่านี้ หรือบุคคลอื่นๆ ที่ประสบกับภาวะวิกฤตในชุมชน

Keywords: ภัยพิบัติ, การปรับตัว, ผลกระทบ, การฟื้นฟูสภาพจิตใจ, สึนามิ, ฆ่าตัวตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 2005000072

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: