ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ผ่องพรรณ รัตนะเศรษฐากุล,จิราภรน์ นพคุณขจรและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: จุดเปลี่ยนแห่งชีวิต....ผลกระทบสึนามิ (5 กรณีตัวอย่าง)

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 92-93.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากการเกิดแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์มีความสูง 10 เมตร ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 700 กิโลเมตร / ชั่วโมง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายมหาศาลใน 11 ประเทศและแถบชายฝั่งทะเลอันดามันมีผลเสียหายมากถึง 280,000 คนและเป็นส่วนของประเทศไทยนั้นได้รับความเสียหายทั้งหมด 407 หมู่บ้าน 25 อำเภอ 6 จังหวัด ซึ่งได้แก่ กระบี่ ตรัง สตูล ภูเก็ต และระยอง มีผู้เสียชีวิต 5,395 คน ผู้บาดเจ็บ 10,275 คน และมีผู้สูญหาย 2,911 คน นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือน ทรัพย์สินต่าง ๆ เสียหายอีกเป็นจำนวนมาก และได้มีหน่วยงานต่าง ๆ เขาไปดูแลช่วยเหลือในทุก ๆ ด้านเป็นจำนวนมาก แต่มีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ โดยมีภูมิลำเนาอยู่นอกเหนือจาก 6 จังหวัดดังกล่าว ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในพื้นที่เขต 1 ซึ่งเป็นเขตความรับผิดชอบของโรงพยาบาลสวนปรุง พบว่ามีประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ครั้งนี้ถึง 62 ราย และมีอยู่ 5 ราย ได้รับการตอบสนองทางด้านจิตใจจนไม่สามารถที่จะจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ต้องเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลสวนปรุงจังหวัดเชียงใหม่ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยเก่าเคยได้รับการรักษาทางด้านจิตเวชมาก่อน 4 ราย และเป็นผู้ป่วยใหม่ 1ราย เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิถล่มได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึงเท่าเทียมและต่อเนื่อง ศูนย์วิกฤตสุขภาพจิต โรงพยาบาลสวนปรุงจึงได้ติดตามดูแลรักษา เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูสุขภาพจิตต่อไป สรุปผลการดำเนินงาน จากการดำเนินงานพบว่า ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ค่อนข้างเปราะบางในการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต จึงมีความคิดเห็นว่าควรจะมีการติดตามดูแลช่วยเหลืออย่างทันที ทั้งนี้หากหน่ายงานต่าง ๆ เกิดความตระหนักถึงบทบาทของการดูแลช่วยเหลือ ก็จะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูจิตใจและกลับคืนสู่สังคมได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นในการดำเนินการการดูแลช่วยเหลือจึงต้องมีนโยบายรองรับและให้การสนับสนุนที่ชัดเจน จึงจะทำให้ผลการดำเนินงานเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การดึงให้พื้นที่มาร่วมรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความร่วมในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องระยะยาวต่อไป ข้อเสนอแนะ การให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาทและแนวทางการดูแลช่วยเหลือ รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ แก่ผู้ให้การช่วยเหลือและประชาชนทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมแผ่นดินไหว การเกิดโรคระบาดที่อาจจะกลายพันธ์เป็นอันตรายต่อชีวิตและความมั่นคงปลอดภัย น่าจะช่วยทำให้การตื่นตระหนกหวาดระแวงและวิตกกังวลกลัวต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ลดระดับความรุนแรงลงมีเหตุผลและสามารถฟื้นฟูในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เกิดประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพ ค้นหาผู้ที่ได้รับผลกระทบนอกพื้นที่เกิดเหตุ อาจทำได้โดยการติดต่อประสานงานขอข้อมูลกับหน่วยบรรเทาสาธารณภัยของแต่ละจังหวัด สำนักงานสาธารณสุข และสื่อต่างในพื้นที่ ก้าวต่อไป ติดตามดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในพื้นที่ทุกรายโดยการติดตามเยี่ยมบ้าน วิเคราะห์และประเมินปฏิกิริยาการตอบสนองทางด้านจิตใจ โรคทางจิตเวช และความเข้มแข็งในการมองโลก แล้วส่งต่อพื้นที่เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพจิตใจในระยะยาวต่อไป

Keywords: สึนามิ, สุขภาพจิต, การฟื้นฟูสภาพจิต, ผลกระทบ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: ศูนย์วิกฤตสุขภาพจิต โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต

Code: 2005000074

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: