ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นาวาอากาศโทหญิงดลฤดี โรจน์วิริยะและนาวาอากาศตรีหญิงสุวิมล สมัตถะ

ชื่อเรื่อง/Title: การฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยธรณีพิบัติ บ้านบางเบน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 96-97.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ภายหลังเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย กองทัพอากาศได้ให้ความช่วยเหลือดำเนินการในการปลูกสร้างบ้านให้กับผู้ประสบภัยพื้นบ้านบางเบน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง เป็นจำนวน 42 ครอบครัว และให้มีการปฏิบัติการฟื้นฟูจิตใจให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยธรณีพิบัติที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจิต วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตที่เรียกว่า Crisis Intervention เป็นการให้บริการแบบ Outreach Service ให้ประชาชนผู้ประสบภัยธรณีพิบัติ สามารถนำพลังความสามารถที่หลงเหลือ อยู่ในตัวของพวกเขานั้นออกมาใช้ในการแก้ไขสถานการณ์ความเครียด ช่วย ให้มีพฤติกรรมการปรับตัวที่เหมาะสม เป็นพฤติกรรมที่ผ่อนคลายความเครียดของสถานการณ์ โดยพฤติกรรมลดความเครียดทางอารมณ์จะต้องไม่ใช่ พฤติกรรมที่หนีปัญหาหรือเลี่ยงปัญหา แต่เป็นการช่วยให้มีความสามารถดำเนินชีวิตประจำวันและประกอบภารกิจต่อไปได้ในระดับที่เป็นไปได้ของแต่ละคน วิธีการ 1. จัดคณะทำงาน ได้แก่ ข้าราชการของกรมกิจการพลเรือนกองทัพอากาศ จำนวน 3 คน อาจารย์แผนกวิชาการพยาบาลจิตเวช วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ จำนวน 2 คน นักเรียนพยาบาลทหารอากาศที่ผ่านการฝึกวิชาปฏิบัติการพยาบาลจิตเวชแล้ว จำนวน 13 คน และศิลปินดารา จำนวน 4 คน 2. อาจารย์และนักเรียนพยาบาลทหารอากาศ รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลและภาวะสุขภาพจิต โดยใช้แบบวัดสุขภาพจิตที่ปรับปรุงข้อความให้เหมาะสมกับสภาพการณ์จากแบบวัดสุขภาพจิต จำนวน28 คน ขณะสัมภาษณ์ใช้เทคนิคการสื่อสารเพื่อการบำบัด ผลที่ได้รับ ประชาชนผู้ประสบภัยธรณีพิบัติความพึงพอใจในการช่วยเหลือของกองทัพอากาศอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิตขณะนั้นได้แก่ ไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพ รายได้ไม่แน่นอนไม่มีเงินทุน ขาดการรับทราบข่าวสารหรือการเปลี่ยนแปลงประจำวันขาดแคลนน้ำส่วนใหญ่เป็นน้ำกร่อย ความรู้สึกหวาดหวั่นต่อธรณีพิบัติ และบ้านที่กองทัพสร้างให้คับแคบ เนื่องจากมีสมาชิกของครอบครัวมากกว่า 5 คน เกือบทุกครอบครัว ความต้องการเพิ่มเติมที่ต้องการได้รับ ได้แก่ น้ำดื่มและน้ำใช้ เครื่องบริโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตการเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ การสนับสนุนการประกอบอาชีพ และการส่งเสริมอาชีพของแม่บ้าน จากการรวบรวมภาวะสุขภาพจิตของประชาชนผู้ประสบภัยธรณีพิบัติ ( จำนวน 28 ราย) พบว่ามีสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป จำนวน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.57 และสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป จำนวน 27 รายคิดเป็น ร้อยละ 96.43 แยกเป็นรายด้านได้ดังนี้ 1. ด้านสภาพจิตใจต่ำกว่าคนทั่วไป จำนวน 28 รายคิดเป็นร้อยละ 100 2. ด้านสมรรถภาพของจิตใจเท่ากับคนทั่วไป จำนวน 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.43 และสภาพจิตใจ ต่ำกว่าคนทั่วไป จำนวน 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 78.57 3. ด้านคุณภาพของจิตใจดีกว่าคนทั่วไป จำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.29 เท่ากับคนทั่วไปจำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 35 71 และสภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป จำนวน 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 4. ด้านปัจจัยสนับสนุนเด็กดีกว่าคนทั่วไป จำนวน 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.43 เท่ากับคนทั่วไปจำนวน 16 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.14 และสภาพจิตใจต่ำกว่าคนทั่วไป จำนวน 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.43 ข้อเสนอแนะ ควรมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทำงานเป็นทีม วางแผนการช่วยเหลือดูแลและให้คำปรึกษา ทั้งระดับบุคคลครอบครัว และชุมชน ควรมีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ประสบภัยธรณีพิบัติบ้านบางเบนอย่างต่อเนื่องต่อไป

Keywords: ธรณีพิบัติ, ผู้ประสบภัย, การฟื้นฟูสภาพจิตใจ, สุขภาพจิต, ความเครียด, พฤติกรรม, อารมณ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ กรมแพทย์ทหารอากาศ กองบัญชาการสนับสนุนทหารอากาศ

Code: 2005000076

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: