ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นฤมล ลาวัลย์ตระกูล

ชื่อเรื่อง/Title: จิตบำบัดระยะสั้นมากกับความเข้มแข็งของอีโก้ในแม่ของลูกที่ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียสามีในเหตุการณ์ระเบิดสนามบินหาดใหญ่ เดือน เมษายน 2548

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 99-100.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวไทยภาคใต้ในช่วงขวบปีกว่า มานี้ นับมีความรุนแรงหลายระรอก ตั้งแต่ธรณีพิบัติภัย นับเป็นภัยธรรมชาติและภัยจากฝีมือมนุษย์ด้วยกันเอง ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงต้นเมษายน โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ได้รับผู้ป่วยไว้ในการดูแลจากเหตุการณ์ระเบิด 2 จุดใหญ่ ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาคือ ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ สนามบินหาดใหญ่ มีอาการสาหัสหลายรายด้วยกัน ที่น่าเป็นห่วงและสะเทือนใจสังคมที่สุด คือ เด็กชายวัย 4 ขวบที่ได้รับบาดเจ็บ การมองปัญหาในเชิงลึก ผู้ที่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ในคืนนั้น คือ ญาติมิตรทั้งหมดของผู้ประสบภัยอันไร้ความปราณีในระยะวิกฤตของชีวิตการดูแลทางกายได้ถูกจัดการอย่างเหมาะสม และเมื่อเวลาผ่านไป ผลกระทบที่ตามมาคือความบาดเจ็บทางใจที่ไม่ได้ถูกมองข้ามจากทีมสุขภาพมีความน่าสนใจกรณีแม่ผู้ดูแลบุตรที่บาดเจ็บและได้สูญเสียสามีไปในเหตุการณ์เดียวกัน ต้องยืนหยัดดูแลลูกชายที่บาดเจ็บหนักหลายระบบ และยังไม่รู้สึกตัวต่อไป ด้วยหวังว่าขอให้ลูกชายยังมีลมหายใจ และผู้เป็นแม่รับได้ถึงแม้ลูกจะกลับคืนอ้อมอกแม่ในสภาพใดก็ตาม ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในทีมสุขภาพที่ได้มีโอกาสดูแลสุขภาพจิตของแม่ท่านนี้ ด้วยแรงบันดาลใจจากความเข้มแข็งของกรณีศึกษา และด้วยจิตของผู้ดูแลซึ่งมีความเป็นแม่เช่นกัน วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและเลือกใช้รูปแบบที่เหมาะสมในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจิต จากวิกฤติการณ์สูญเสียรุนแรงและเฉียบพลัน โดยการช่วยเหลือแบบจิตบำบัดระยะสั้นมาก ขอบเขตการศึกษา แม่ของลูกที่ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียสามีในเหตุการณ์ระเบิดสนามบินหาดใหญ่ วิธีการ การศึกษากรณีนี้ ผู้ศึกษาได้ประเมินสภาวะการณ์ของปัญหา แบ่งเป็น 3 ช่วงดังนี้ ช่วงแรก เป็นช่วงวิกฤติของชีวิต ลูกที่ได้รับบาดเจ็บพักรักษาตัวอยู่ใน ICU เด็ก แม่ยังมีความเป็นห่วงและมีใจจดจ่อกับความเจ็บป่วยของลูก ช่วงนี้ได้เยี่ยมกรณีเพื่อประเมินสภาวะจิตใจเบื้องต้น พบว่ามีการปรับตัวของอีโก้ต่อปัญหาได้ดีมาก ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่กรณีศึกษาเริ่มมีการต่อรองต่อการเจ็บป่วยของลูกโดยกล่าวว่าตนยอมรับสภาพของลูกได้ ขอให้ลูกยังมีชีวิตต่อไป ช่วงนี้ยังมีความเข้มแข็งของอีโก้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเหนื่อยล้าจากการเป็นผู้ดูแลโดยลำพังกับทีมสุขภาพของโรงพยาบาลใน ICU เด็ก ช่วงสุดท้าย เป็นช่วงฟื้นตัวของอาการลูกซึ่งพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ พักรักษาตัวอยู่ในห้องพิเศษ ความเข้มแข็งของอีโก้เริ่มลดลงบ้าง และต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในการบอกเรื่องการเสียชีวิตของสามีแก่ลูก ได้ดำเนินการตามวิธีการดังนี้ แจ้งหัวหน้าทีมสุขภาพอย่างเป็นทางการเพื่อปรึกษากับทีมว่ามีความเหมาะสม ของเวลาและความพร้อมของกรณีที่ควรจะได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพจิตรับมอบหมายอย่างเป็นทางการจากหัวหน้ากลุ่มงาน เพื่อเข้าไปดูแลกรณี ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแจ้งพยาบาลหัวหน้าตึกทราบถึงวิธีการ วันเวลา สถานที่ ที่จะเข้าไปดูแล ทำการตกลงบริการกับกรณีในเรื่องต่อไปนี้ 4.1 สถานที่ในการทำจิตบำบัด : ห้องพิเศษในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นที่พักรักษาตัวของลูก โดยลูกและสมาชิกอื่นๆ ของครอบครัว อยู่อีกส่วนหนึ่งของห้อง การพูดคุยช่วยเหลือกรณีอยู่อีกส่วนหนึ่ง มีส่วนกั้นชัดเจนมีความสงบและความเป็นส่วนตัว มีความปลอดภัย 4.2 การกำหนดเวลา ได้กำหนดความถี่ตามความเหมาะสม โดยกรณีมีโอกาสร่วมวางแผนวันเวลานัด ใช้เวลา 30 –60 นาทีในแต่ละครั้ง และให้ติดต่อกับพยาบาลหัวหน้าตึกเมื่อกรณีต้องการเลื่อนวันเวลานัดซึ่งไม่มีการเลื่อนวันเวลาในการพบทั้ง 4 ครั้ง 4.3 การรักษาความลับของกรณี 4.4 ทำการช่วยเหลือแบบจิตบำบัดระยะสั้นมาก โดยใช้เทคนิคประคับประคองดังนี้ การให้ความมั่นใจ ให้ความเห็นอกเห็นใจ ให้คำแนะนำ ให้ความรู้ ให้การศึกษา ช่วยเหลือการตัดสินใจ ให้โอกาสแสดงความรู้สึก ร่วมแก้ไขปัญหา เพิ่มความมีคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเพื่อคงไว้ซึ่งความเข้มแข็งของชีวิต และบุคลิกภาพสู่ความสมดุล ของสภาวะจิตใจโดยพบกรณีทั้งหมดเป็นจำนวน 4 ครั้ง สรุปผลการศึกษา พบว่า กรณีศึกษาได้รับการช่วยเหลือและร่วมแก้ปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องการบอกข่าวร้ายแก่ลูกด้วยวิธีการที่เหมาะสม อยู่ในความเป็นจริง เพิ่มความมีคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเอง ทำให้สามารถเผชิญกับปัญหาที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ข้อเสนอแนะ 1. การประเมินโดยผู้ให้ความช่วยเหลือ ถึงแม้กรณีศึกษาจะเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งของอีโก้ ก็ไม่ควรละเลยที่จะดูแล เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้น 2. เป็นกรณีตัวอย่างในการดูแลกรณีอื่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องการดูแลผู้ที่มีความเข้มแข็งของอีโก้ 3. ศึกษาเปรียบเทียบการทำจิตบำบัดระยะสั้นมากในเพศหญิงและเพศชายที่เผชิญปัญหาคล้ายคลึงกันว่ามีความแตกต่างหรือไม่

Keywords: สุขภาพจิต, จิตบำบัด, อีโก้, การสูญเสีย, เหตุการณ์ระเบิด, ธรณีพิบัติภัย, ภาคใต้, เด็ก, ภาวะวิกฤติ, ความรุนแรง, ภาคใต้ เหตุการณ์ระเบิดสนามบินหาดใหญ่

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: งานสุขภาพจิต กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลหาดใหญ่

Code: 2005000078

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: