ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปิยะฉัตร ชื่นตระกูล

ชื่อเรื่อง/Title: การจัดบริการทางสังคมให้กับผู้ประสบภัยสึนามิของนักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไป

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 104-105.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิถล่ม 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน โรงพยาบาล ศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไป ได้ระดมนักสังคมสงเคราะห์เข้าช่วยสนับสนุนการทำงานด้านสวัสดิการสังคมกับนักสังคมสงเคราะห์ในพื้นที่จังหวัดพังงาเป็นเวลา 1 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยสนับสนุนนักสังคมสงเคราะห์ในพื้นที่ให้สามารถจัดบริการสังคมที่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ใช้สถานการณ์นี้เป็นบทเรียนสำหรับการเตรียมการจัดทำแผนรองรับเหตุการณ์วิกฤตและฉุกเฉินของงานสวัสดิการสังคมของโรงพยาบาลแต่ละจังหวัด รวมทั้งเพื่อแสดงมิตรไมตรีต่อกันในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ วิธีการดำเนินการ จะเป็นการปฏิบัติงานในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ในบริเวณที่จัดไว้สำหรับเป็นที่พักพิงชั่วคราวของผู้ประสบภัยที่กระจายในจุดต่างๆ 11 แห่ง เริ่มจากการรับฟังสรุปสถานการณ์ในพื้นที่การสำรวจพื้นที่เป้าหมาย การทำความรู้จักกับหน่วยงานที่มีอยู่ในชุมชน ประสานเครือข่าย เยี่ยมบ้านประชาชนผู้ ประสบภัยในชุมชนต่างๆ เพื่อสำรวจ สัมภาษณ์ ทั้งเป็นรายบุคคล ครอบครัว และกลุ่ม ในเรื่องความรู้สึกปัญหาความเดือดร้อน ความทุกข์ยาก ความสูญเสียที่ประสบอยู่ ความต้องการการสนับสนุนทั้งในด้านร่างกายสังคมและจิตใจ รวมทั้งประเมินสภาพปัญหาและความเสี่ยงทางสังคมของผู้ประสบภัย ตลอดจนวางแผนให้การช่วยเหลือด้วยการจัดบริการที่ตรงกับปัญหาและความต้องการ จำนวนที่สัมภาษณ์ทั้งสิ้น 627 ครอบครัว ผลการดำเนินงาน พบว่า 1. สรุปภาพรวมสถานการณ์ในพื้นที่ ผู้ประสบภัยทั้งหมดอาศัยอยู่ที่บ้านพักพิงชั่วคราวที่ทางการจัดให้ส่วนใหญ่ สูญเสียสมาชิกในครอบครัวทั้งเสียชีวิตและสูญหายยังหาศพไม่พบผู้ที่ตายหรือสูญหายส่วนใหญ่เป็นลูกรองมาเป็นแม่ พ่อ ญาติพี่น้อง สามีและภรรยา ส่วนใหญ่ยังไม่พบศพ เกิดสภาพพ่อม่าย แม่ม่าย เด็กกำพร้าไร้ญาติขาดมิตร ครึ่งหนึ่งของครอบครัวที่สัมภาษณ์มีปัญหาสุขภาพจิต วิตกกังวลด้านการประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัยถาวร รำคาญเสียงรบกวนจากเพื่อนบ้าน รวมทั้งวิตกกังวลว่าจะเกิดคลื่นยักษ์อีก ไม่มั่นใจในการกลับเข้าไปอยู่ที่เดิม ยังคงมีปัญหาสุขภาพกาย ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสิทธิบัตร เอกสารสิทธิ 2.สรุปภาพรวมปัญหาและความต้องการของผู้ประสบภัย ได้แก่ ด้านการประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การดูแลสมาชิกในครอบครัว เศรษฐกิจ ด้านกฎหมาย / ข้อปฏิบัติ แหล่งข้อมูลที่ประสบภัยจะสามารถติดต่อประสานงานและขอรับการช่วยเหลือได้ การเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย รวมทั้งต้องการความมั่นใจในบริการของหน่วยงานต่างๆ ที่ระดมไปในพื้นที 3.สรุปการจัดบริการสังคมในพื้นที่ให้กับผู้ประสบภัย ได้แก่ บริการส่งต่อผู้ประสบภัยไปยังแหล่งทรัพยากร/ แหล่งทุนที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ สิ่งของเครื่องใช้ฝึกอาชีพ การรักษาพยาบาล การดูแลเด็ก การให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่างๆ เช่น ศูนย์ / แหล่งทุน / แหล่งทรัพยากร การดูแลครอบครัวกรณีผู้ใหญ่ต้องทิ้งเด็กไว้ตามลำพัง การสนับสนุนทางจิตใจแนะนำ ช่วยเหลือด้านการดูแลสุขภาพ กฎหมายสิทธิประโยชน์ต่างๆ การติดตามเอกสาร เป็นตัวกลางช่วยสื่อและนำข้อร้องเรียนของผู้ประสบภัยเสนอต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องบริการด้านการติดตามญาติผู้สูญหายและศพ บริการเฝ้าระวังปัญหาที่อาจเป็นความเสี่ยงทางเพศ 4.สรุปความคิดเห็นที่นักสังคมสงเคราะห์ได้พบในในระหว่างการปฏิบัติงาน ได้แก่ พบว่ายังมีปัญหาในการเข้าไปช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ เช่น ด้านความเป็นธรรม การจักระเบียบในศูนย์พักพิง ความทั่วถึงของข้อมูลที่แจ้งผู้ประสบภัย การเชื่อมโยงประสานงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ระดมเข้าไปในพื้นที่การบูรณาการบริการ ขาดเวทีชาวบ้าน หรือช่องทางรับฟังความคิดเห็นของผู้ประสบภัย ขาดการเฝ้าระวังในชุมชนในทุกมิติ 5. สรุปบทเรียนนักสังคมสงเคราะห์ในการทำงานพบว่าได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ในหลายมิติทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น การบริหารจัดการในงานที่มีขนาดของปัญหา ปริมาณผู้ประสบภัยมีจำนวนสูง ความเสียหายเกี่ยวข้องกับสังคมในวงกว้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมากทำให้ต้องมีการจัดระบบบริหารจัดการที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ การทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ กับประชาชนผู้ประสบภัย ต้องการสนับสนุนด้านงบประมาณ วัสดุสิ่งของที่เพียงพอ เหมาะสม ระบบข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือการเรียนรู้ด้านการปฏิบัติงานในบทบาทวิชาชีพที่ต้องการปรับตัวเพื่อรองรับเหตุการณ์ ต้องการเตรียมความพร้อมในระบบบริการสวัสดิการสังคมในอนาคตเพื่อรองรับเหตุการณ์ภัยพิบัติในสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระบบงานของตนเองเฉพาะในโรงพยาบาล ระบบงานที่เชื่อมโยงกับระบบใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขตลอดจนการเชื่อมโยงกับระบบเครือข่ายและพันธิมิตรด้านสวัสดิการสังคมในภาพรวมของประเทศ ข้อเสนอแนะได้แก่ ต้องมีการทบทวนบทบาทหน้าที่และภารกิจในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติครอบคลุมในทุกมิติ ในทุกกลุ่มวิชาชีพและจัดทำแผนงานและแผนปฏิบัติ รวมทั้งมีการฝึกซ้อมเพื่อการรองรับเหตุการณ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ

Keywords: สึนามิ, ผู้ประสบภัย, ความเครียด, สุขภาพจิต, ความวิตกกังวล, สุขภาพกาย, ครอบครัว, ความสูญเสีย, ความเสี่ยง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Code: 2005000081

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: