ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นันทยุทธ หะสิตะเวช

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการจัดกิจกรรมกลุ่มบำบัดเด็กติดเกมตามแนวทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญา บนพื้นฐานความรู้ของแมททริกซ์โปรแกรม

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 110.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล เกมคอมพิวเตอร์มีทั้งผลดีและผลเสียต่อเด็ก ขึ้นอยู่กับเกมและเวลาที่ใช้ในการเล่นผลเสียคือ จะมีผลกระทบต่อการเรียนและสุขภาพเด็กจะทรุดโทรม โอกาสที่จะสร้างสัมพันธ์ภาพกับบุคคลอื่นน้อยลง เกิดปัญหาภายในครอบครัว และเกิดผลเสียทางด้านอารมณ์ เด็กจะก้าวร้าวรุนแรง โปรแกรมกลุ่มบำบัดเด็กติดเกมตามแนวทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญาซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมการควบคุมตนเองในการลดเวลาเล่นเกม การป้องกันการติดเกมซ้ำ ทักษะชีวิตและการให้ความรู้ครอบครัวเกี่ยวกับการติดเกม จะช่วยเหลือเด็กเหล่านั้นได้ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการจัดกิจกรรมกลุ่มบำบัดเด็กติดเกมตามแนวทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญา รูปแบบการวิจัย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลัง ขอบเขตการวิจัย กลุ่มตัวอย่างคือเด็กติดเกมระดับรุนแรง ระเบียบวิธีวิจัย เป็นกิจกรรมกลุ่มตามแนวทฤษฎีการปรับพฤติกรรมทางปัญญาจำนวน 7 คนที่มารับบริการที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้รับการทำกิจกรรมกลุ่มจำนวน 8 ครั้งละ 2 ชั่วโมง ตัวแปรที่ต้องการศึกษา ความรู้ ทัศนคติต่อการเล่นเกมและทักษะในการปฏิบัติตนในการควบคุมตนเอง การลดเวลาการเล่นเกม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย โปรแกรมกิจกรรมกลุ่มบำบัดเด็กติดเกม แบบสอบถามความรู้ ทัศนคติต่อการเล่นเกมและทักษะในการปฏิบัติตนในการควบคุมตนเอง และแบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองถึงการเล่นเกมของเด็ก สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ Pair t-test สรุปผลการวิจัย เด็กติดเกมที่เข้ากิจกรรมจำนวน 7 คนทุกคนเป็นผู้ชาย มีอายุระหว่าง 12-18 ปี อายุเฉลี่ย 14.5 ปี ผลการวิจัยพบว่าหลังการทดลองเด็กมีความรู้ ทัศนคติต่อการเล่นเกมและทักษะการปฏิบัติตนในการควบคุมตนเองสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับน้อยกว่า .05 (P‹0.05) และผู้ปกครองพบว่าเด็กสามารถลดเวลาการเล่นเกมได้ทุกคน ข้อเสนอแนะ เครื่องมืออาจมีส่วนช่วยเหลือเด็กติดเกมบ้าง แต่ทั้งนี้ควรมีการปรับปรุงกิจกรรมบางกิจกรรมภายในหลักสูตรให้เหมาะสมสำหรับเด็กติดเกมมากขึ้นเพราะเด็กติดเกมไม่ใช่ผู้ติดยาเสพติดและควรระวังความคาดหวังของผู้ปกครอง เพราะวัตถุประสงค์ของกิจกรรมคือการควบคุมตนเองในการลดการเล่นเกม ไม่ใช่การเลิกเล่นเกม

Keywords: เด็ก, เกม, กลุ่มบำบัด, กิจกรรม, พฤติกรรม, สุขภาพ, ครอบครัว, ทักษะชีวิต, ความรู้, ทัศนคติ, จิตวิทยา, กลุ่มบำบัด, กิจกรรมกลุ่ม, ปัญหาเด็กติดเกม, ปรับพฤติกรรม, เกมส์, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 2005000083

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในที่ประชุมวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ

Download: -