ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุธัญญา อภัยยานุกร

ชื่อเรื่อง/Title: ศึกษาความสามารถในการฝึกทักษะการรับประทานอาหารแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองที่มีข้อจำกัดในการอ่านและความสามารถในการรับประทานอาหารของบุคคลปัญญาอ่อน หอผู้ป่วยครอบครัว สถาบันราชานุกูล จากการสอนโดยใช้ภาพประกอบ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 112.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล หอผู้ป่วยครอบครัว ให้บริการฝึกบุคคลปัญญาอ่อนร่วมกับผู้ปกครองโดยทีมสหวิชาชีพ แบบอยู่ประจำ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ผู้ปกครองเรียนรู้วิธีการฝึกให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปฝึกบุคคลปัญญาอ่อนต่อเนื่องที่บ้านและถ่ายทอดแก่บุคคลอื่นในบ้านที่เกี่ยวข้องได้ แต่จากการติดตามผลการฝึกบุคคลปัญญาอ่อนต่อเนื่องที่บ้านพบว่า การฝึกทักษะการรับประทานอาหารแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองเป็นทักษะหนึ่งที่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลอื่นในบ้านประมาณร้อยละ 40 เป็นผู้สูงอายุซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยฝึกบุคคลปัญญาอ่อน มีข้อจำกัดในเรื่องการอ่านไม่สามารถอ่านคู่มือที่ให้ได้ด้วยสาเหตุ ไม่รู้หนังสือ ตามองเห็นตัวหนังสือไม่ชัดเจนเนื่องจากฝ้ามัว หรือมองเห็นลางๆ จึงปฏิบัติต่อบุคคลปัญญาอ่อนเหมือนที่เคย วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเปรียบเทียบความสามารถในการฝึกทักษะการรับประทานอาหารแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองที่มีข้อกำจัดในการอ่าน และความสามารถในการรับประทานอาหารของบุคคลปัญญาอ่อนก่อนและหลังจากการสอนโดยใช้ภาพประกอบ ขอบเขตการวิจัย ทำการศึกษาผู้ปกครองที่มีข้อจำกัดในการอ่านและบุคคลปัญญาอ่อนอายุ 3-10 ปี ไม่มีปัญหาพฤติกรรมรุนแรง ที่หอผู้ป่วยครอบครัว ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2547 ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงทดลอง กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ปกครองบุคคลปัญญาอ่อนและบุคคลปัญญาอ่อนจำนวน 10 คน ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยคือ ความสามารถในการฝึกทักษะการรับประทานอาหารของผู้ปกครองและความสามารถในการรับประทานอาหารของบุคคลปัญญาอ่อน เครื่องมือที่ใช้ เป็นชุดการสอนรับประทานอาหารโดยใช้ภาพประกอบ มี 2 แผน และภาพชุดการสอนจำนวน 3 ชุด เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบประเมินความสามารถในการรับประทานอาหารของบุคคลปัญญาอ่อน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่ามัธยฐาน ค่าเบี่ยงเบนควอไทล์ และวิลคอกซัน สรุปผลการวิจัย พบว่า ความสามารถในการฝึกทักษะการรับประทานอาหารแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองที่มีข้อจำกัดในการอ่าน หลังจากการสอนโดยใช้ภาพประกอบ สูงกว่าก่อนการสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05โดยมีความสามารถหลังการเพิ่มขึ้นทุกคนและอยู่ในระดับดี 8 คน ส่วนความสามารถในการรับประทานอาหารของบุคคลปัญญาอ่อนหลังจากการสอนโดยผู้ปกครองใช้ภาพประกอบ พบว่าสูงกว่าก่อนการสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 โดยมีความสามารถหลังการสอนเพิ่มขึ้นทุกคน และมีการเปลี่ยนแปลงระดับ 2 คนอยู่ในระดับพอใช้ ข้อเสนอแนะ บุคลากรที่ทำการฝึกสอนผู้ปกครองที่มีข้อจำกัดในการอ่าน สามารถนำชุดการฝึกสอนทักษะการรับประทานอาหารแก่บุคคลปัญญาอ่อน จากการสอนโดยใช้ภาพประกอบไปใช้เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถฝึกบุคคลปัญญาอ่อนที่ไม่มีพฤติกรรมรุนแรงต่อเนื่องที่บ้าน

Keywords: บุคคลปัญญาอ่อน, การฝึกทักษะ, การรับประทาน, อาหาร, ผู้ปกครอง, ความสามารถ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สถาบันราชานุกูล

Code: 2005000085

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: