ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จันทร์เพ็ญ ธัชสินพงษ์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของบุคคลปัญญาอ่อนอายุ 3-5 ปี จากการใช้โปรแกรมสร้างเสริมการรับรู้อารมณ์

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 115.116.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของบุคคลปัญญาอ่อนคือมีความยากลำบากในการรับรู้สิ่งที่เป็นนามธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการรับรู้อารมณ์บุคคลอื่น ซึ่งมีการแสดงออกได้หลายรูปแบบดังนั้นผู้วิจัยจึงได้สร้างโปรแกรมสร้างเสริมการรับรู้อารมณ์บุคคลอื่น เพื่อใช้ฝึกให้แก่บุคคลปัญญาอ่อน ได้มีความสามารถในการรับรู้อารมณ์พื้นฐานของบุคคลอื่นที่แสดงออกทางสีหน้าเป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถดำเนินชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมตั้งแต่อายุยังน้อย วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสามารถในการรับรู้อารมณ์ สุข ทุกข์หรือเสียใจและอารมณ์โกรธ ของบุคคลปัญญาอ่อน อายุ 3 – 5 ปี จากการใช้โปรแกรมสร้างเสริมการรับรู้อารมณ์ ขอบเขตการวิจัย ประชากรเป็นบุคคลปัญญาอ่อน อายุ 3-5 ปี ที่รับบริการประเภทผู้ป่วยใน สถาบันราชานุกูลกลุ่มตัวอย่างเลือกมาจากบุคคลปัญญาอ่อนอายุ 3-5 ปี ที่รับบริการประเภทผู้ป่วยในสถาบันราชานุกูลระหว่างเดือนเมษายน 2547 - เดือน มิถุนายน 2547 ที่มีระดับความสามารถทางความเข้าใจภาษา ( Receptive Language) เทียบเท่ากับเด็กปกติอายุ 2 ปี 6 เดือน ไม่มีความสามารถในการรับรู้อารมณ์และบิดาหรือมารดาสามารถนำบุคคลปัญญาอ่อนเข้าร่วมโปรแกรมสร้างเสริมการรับรู้อารมณ์จนครบตามโปรแกรมการวิจัย จำนวน 6 คน ระเบียบวิธีวิจัย 1.ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 6 คน 2. การสุ่มตัวอย่าง ใช้วิธีเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์คัดเข้าและจากความสมัครใจของบิดาหรือ มารดาบุคคลปัญญาอ่อนที่สามารถเข้าร่วมโปรแกรมได้ตามกำหนด 3. ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ 4. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นโปรแกรมสร้างเสริมการรับรู้อารมณ์ ประกอบด้วย กิจกรรม 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นการสร้างการรับรู้ ขั้นการสร้างความเข้าใจ และขั้นการตอบสนอง และ เป็นแบบบันทึกการตรวจสอบผลการฝึก และแบบประเมินความสามารถในการรับรู้อารมณ์บุคคลอื่น 5. การเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้เวลาในการทดลอง ทั้งหมด 44 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ตั้งแต่เดือน เมษายน ถึง มิถุนายน 2547 6. การวิเคราะห์ข้อมูล ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ จำนวน มัธยฐานและค่าเบี่ยงเบนควอไทล์ สรุปผลการวิจัย ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ สุข ทุกข์หรือเสียใจและอารมณ์โกรธ ของบุคคลปัญญาอ่อน อายุ 3 – 5 ปี หลังการใช้โปรแกรมอยู่ในระดับดี ข้อเสนอแนะ บุคลากรสาธารณสุขที่ปฎิบัติงานเกี่ยวข้องกับบุคคลปัญญาอ่อนและผู้ปกครองสามารถนำโปรแกรมสร้างเสริมการรับรู้อารมณ์ของบุคคลปัญญาอ่อนไปใช้ได้โดยจัดกิจกรรมสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน เพื่อให้บุคคลปัญญาอ่อนเกิดการรับรู้และปฎิบัติจนเป็นนิสัย

Keywords: บุคคลปัญญาอ่อน, ปัญญาอ่อน, ความรู้, กิจกรรม, ความสามารถ, อารมณ์, โปรแกรมสร้างเสริม, บิดา มารดา, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มการพยาบาล สถาบันราชานุกูล

Code: 2005000087

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: