ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พนิดา รัตนไพโรจน์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนารูปแบบบริการบุคคลออทิสติกอายุ 11/2 -5 ปี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 118-119.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากความก้าวหน้าในด้านการแพทย์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เกิดความตื่นตัวมีการพัฒนาระบบการคัดกรองเพื่อค้นหาบุคคลออทิสติกตั้งแต่ในช่วงต้นวัยของชีวิตมากขึ้น เด็กออทิสติกได้รับการวินิจฉัยเร็วขึ้น แต่การดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติกยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งในด้านสถานบริการเด็กออทิสติกในช่วงอายุปฐมวัยที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งศักยภาพของบุคลากรผู้ให้บริการ สถาบันราชานุกูลเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กออทิสติกในช่วงอายุปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยเริ่มต้นของการเรียนรู้และการพัฒนา เด็กออทิสติกที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือเร็วมากขึ้นเท่าใด โอกาสในการพัฒนาศักยภาพของเด็กก็เป็นไปได้สูง ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคออทิซึม และความพร้อมของครอบครัวในการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ดังนั้นจึงได้ดำเนินการเปิดบริการหอผู้ป่วยออทิสติก ตั้งแต่ สิงหาคม 2547 เป็นต้นมา ให้บริการแก่เด็กออทิสติก อายุ 1 ½ -5 ปี ทั้งเพศชายและหญิง โดยให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลตลอดระยะเวลาที่กำหนดตามโปรแกรม และเป็นแหล่งศึกษาดูงาน ฝึกปฎิบัติการด้านการดูแลเด็กออทิสติก อายุ 1 ½ -5 ปี แก่บุคลากรสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการจัดบริการแก่เด็กออทิสติกปฐมวัย พัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านการดูแลเด็กออทิสติกปฐมวัย ขอบเขตการบริการ ปีงบประมาณ 2548 กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กออทิสติกอายุ 1 ½ -5 ปี จำนวน 20 ราย วิธีดำเนินการ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ที่จำเป็น และงบประมาณสำหรับหอผู้ป่วย เตรียมความพร้อมด้านกระบวนการและเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม ได้แก่ กำหนดเกณฑ์การรับกิจกรรมสำหรับพัฒนาศักยภาพเด็ก กิจกรรมสำหรับพัฒนาศักยภาพผู้ปกครอง พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล และเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมกำหนดขั้นตอนการให้บริการตามโปรแกรมหอผู้ป่วยออทิสติก เริ่มจากการปฐมนิเทศผู้ปกครองเมื่อรับใหม่ สัมภาษณ์ประวัติเด็ก ประเมินแรกรับเด็กและผู้ปกครองรวบรวมข้อมูล วางแผนการดูแลและแผนการจำหน่าย ให้การพยาบาลตามแผน ประเมินผล และจำหน่ายเมื่อสิ้นสุดโปรแกรม 4 เดือน นัดติดตามผลการดูแลต่อเนื่อง 1 เดือน กิจกรรมสำหรับพัฒนาศักยภาพเด็กออทิสติกประกอบด้วย การส่งเสริมพัฒนาการ การแก้ไขปัญหาพฤติกรรม การส่งเสริมการเล่นและการสื่อความหมาย กิจกรรมสำหรับพัฒนาศักยภาพผู้ปกครองประกอบด้วย การประเมินความรู้ในการดูแลเด็กออทิสติกของผู้ปกครอง ให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฎิบัติ เช่น ความรู้เรื่องโรคออทิซึ่มและการดูแลออทิสติก การส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก พฤติกรรมและการแก้ไข การเล่านิทานและการสื่อความหมายของเด็กออทิสติก จากนั้นมีการประเมินผู้ปกครอง สรุปผลการดำเนินการ 1. จำนวนเด็กออทิสติกที่รับไว้ 15 ราย จำหน่ายไปแล้ว 8 ราย จากจำนวนที่จำหน่ายไปนี้ สามารถไปเรียนร่วมที่โรงเรียนอนุบาล 2 ราย เรียนการศึกษาพิเศษ 3 ราย ผ่านเกณฑ์ประเมินเข้ารับการฝึกโปรแกรมแลกเปลี่ยนภาพเพื่อการสื่อสาร 3 ราย 2. ได้รูปแบบการจัดกิจกรรมสำหรับให้บริการ ประกอบด้วย. 2.1 กิจกรรมสำหรับเด็ก ได้แก่ การส่งเสริมพัฒนาการ การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการส่งเสริม การเล่น และการสื่อความหมาย 2.2 กิจกรรมสำหรับผู้ปกครอง ได้แก่ ความรู้ภาคทฤษฎีจำนวน 5 ½ ชั่วโมง 5 เรื่อง และการฝึกภาคปฏิบัติการดูแลเด็ก 20 ชั่วโมง 2.3 โปรแกรมการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน

Keywords: ออทิสติก, การพัฒนา, การดูแล, โรคออทิสซึม, ครอบครัว, พฤติกรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต

Code: 2005000089

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: