ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชินานาฏ จิตตารมย์, รุจา ราชพิบูลย์, เยาวลักษณ์ พนิตอังกูร, อรสา เรืองสวัสด์

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ในกระบวนการให้คำปรึกษาครอบครัวในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 128.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล พฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตายในโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งในสถานการณ์วิกฤติ เช่นนี้การรักษาที่มีการใช้ยา การรักษาด้วยไฟฟ้า การทำกลุ่มบำบัดและหนึ่งในวิธีการที่สำคัญวิธีหนึ่งก็คือการให้คำปรึกษาครอบครัวที่เน้นไปที่การสื่อสารระหว่างบุคคลเนื่องจากพบว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาทางจิตอารมณ์ในผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับ ปัญหาคือการที่เขาไม่สามารถที่จะบอกให้ผู้อื่นได้รับทราบถึงความรู้สึกและความต้องการของเขาขณะเดียวกันบุคคลอื่นก็ไม่สามารถรับรู้ความหมายของผู้ป่วยเช่นกันจากเหตุผลดังกล่าวการพัฒนาการสื่อสารระหว่างบุคคลโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีของเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ จึงเป็นสิ่งที่หน้าสนใจ เพราะหลักการสำคัญของทฤษฎีนี้จะมุ่งไปที่ความไวและการบอกความรู้สึก การตระหนักรู้เกี่ยวกับภาษาวาจาและท่าทาง และความสามารถในการที่จะสื่อความต้องการและความรู้สึกได้ โดยการสื่อสารแบบนี้จะช่วยให้ครอบครัวมีความผูกพัน รู้สึกภาคภูมิใจ และเพิ่มความเชื่อมั่นในการที่จะแก้ปัญหาได้ กลุ่มตัวอย่าง มีจำนวน 15 คน โดยมี 8 คน ที่มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยทั้งหมดเป็นผู้ป่วยจากแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ที่อยู่ภาคใต้ของประเทศไทย ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า และมีปัญหาครอบครัว เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ โปรแกรมการให้คำปรึกษาครอบครัว แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าแบบประเมินความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย และแบบประเมินการสื่อสารระหว่างบุคคล ซึ่งแต่ละครอบครัวได้รับการให้คำปรึกษาครอบครัวเดือนละ 1-2 ครั้งเป็นเวลา 3 เดือน ข้อมูลที่สมบูรณ์ จะนำมาหาผลต่างของคะแนน ผลของการศึกษา พบว่าความคิดฆ่าตัวตายลดลง 5 ราย ทุกรายมีภาวะซึมเศร้าลดลง ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ความชื่อมั่น ความรู้สึกมีอำนาจการตัดสินใจโดยอิสระ และการสื่อสารระหว่างบุคคลเพิ่มขึ้นนอกจากนี้การศึกษาเป็นการศึกษานำร่องที่พบว่าการให้คำปรึกษาครอบครัวใช้ได้ผลดีใน 3 ครั้ง ข้อเสนอแนะ ที่ได้จากการศึกษานี้ในพยาบาลควรจะมีการนำการให้คำปรึกษาครอบครัวไปใช้ในการพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หน่วยงานที่เป็นทีมสุขภาพจิตควรมีการจัดโปรแกรมฝึกทักษะการให้คำปรึกษานี้และควรมีการพัฒนาโปรแกรมนี้ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย

Keywords: โรคซึมเศร้า, ทฤษฎี, ครอบครัว, การให้ปรึกษา, กระบวนการ, เวอร์จิเนีย ซาเทียร์, บริการจิตเวช, การให้การปรึกษา, ปรึกษา, จิตเวชศาสตร์, ซึมเศร้า,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต

Code: 2005000094

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: