ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นรวีร์ พุ่มจันทร์

ชื่อเรื่อง/Title: คุณภาพชีวิตกับอาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการบำบัดรักษาแบบโรงพยาบาลกลางวันและคุณภาพชีวิตของญาติผู้ป่วยจิตเภท

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 132-133.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล โรคจิตเภทเป็นโรคที่เรื้อรังและกำเริบได้บ่อย การเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเภทจึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเองและญาติที่เป็นผู้ดูแลใกล้ชิด การรักษาแบบโรงพยาบาลกลางวันเป็นแบบอย่างของนิเวศบำบัด ที่บุคลากรสหวิชาชีพทำงานร่วมกันเป็นทีมรักษา รักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม ผู้วิจัยมีความสนใจว่าผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการรักษาแบบโรงพยาบาลกลางวันมีคุณภาพชีวิตและอาการทางจิตเป็นอย่างไรรวมทั้งคุณภาพชีวิตและอาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภทมีความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตของญาติเป็นอย่างไร จึงทำการศึกษาวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.ศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการบำบัดรักษาแบบโรงพยาบาลกลางวันและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2.ศึกษาระดับอาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการบำบัดรักษาแบบโรงพยาบาลกลางวันและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3.ศึกษาคุณภาพชีวิตของญาติผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการบำบัดรักษาแบบโรงพยาบาลกลางวันและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 4.ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกับคุณภาพชีวิตของญาติและระดับอาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภท ประชากรเป้าหมาย คือ ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ได้รับการบำบัดรักษาแบบโรงพยาบาลกลางวัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2547 และญาติของผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ดูแลหลักที่ดูแลผู้ป่วยมากที่สุดและดูแลผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไป สุ่มตัวอย่างโดย คัดเลือกมาจากประชากร มีเกณฑ์การคัดเลือก คือให้ความร่วมมือ สามารถติดตามได้ อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลได้จำนวนผู้ป่วย 36 ราย และญาติของผู้ป่วย จำนวน 36 ราย ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย คือ ลักษณะประชากรของผู้ป่วยจิตเภทและญาติของผู้ป่วยจิตเภท คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทและญาติ และระดับอาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภท เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 2 ชุด เครี่องมือที่ใช้กับผู้ป่วยจิตเภทมี 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 แบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตใช้เครื่องมือชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย และส่วนที่ 3 แบบวัดอาการทางจิตใช้ Positive and Negative Syndrome Scale เครื่องมือที่ใช้กับญาติของผู้ป่วยจิตเภทมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป และส่วนที่ 2 แบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตเช่นเดียวกับผู้ป่วยเก็บรวมรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยโดยใช้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน T-TEST. F-TEST PEARSON PRODUCT MOMENT CORRELATION COEFFICENT ผลการวิจัยคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทอยู่ในระดับกลาง ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตได้แก่ อาชีพ ความสัมพันธ์ในครอบครัว อาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภทอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ปัจจัยที่มีผลต่ออาการทางจิตได้แก่ การศึกษา อาชีพ คุณภาพชีวิตของญาติผู้ป่วยอยู่ในระดับกลาง ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของญาติได้แก่ การศึกษา อาชีพ รายได้ ความสัมพันธ์ในครอบครัว คุณภาพชีวิตของญาติผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กับระดับอาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภท คุณภาพชีวิตของญาติผู้ป่วยและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทไม่มีความสัมพันธ์กัน ข้อเสนอแนะ หน่วยงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่มีการรักษาผู้ป่วยจิตเภทควรมีหน่วยงานด้านโรงพยาบาลกลางวัน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและญาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควรมีการจัดกิจกรรมที่ช่วยเหลือให้ญาติมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีทัศนคติที่ดีกับผู้ป่วยจิตเภท เพื่อให้อาการทางจิตของผู้ป่วยน้อยลง ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีการฝึกอาชีพมีการศึกษาและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับญาติ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเภทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีอาการทางจิตน้อยลง

Keywords: จิตเภท, การบำบัด, คุณภาพชีวิต, ญาติ, ความสัมพันธ์, โรคจิตเวช, จิตเวช, โรคจิต, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มงานโรงพยาบาลกลางวันสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Code: 2005000097

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: