ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สวัสดิ์ เที่ยงธรรม

ชื่อเรื่อง/Title: แรงจูงใจและความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 135

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง มีแนวโน้มในการกลับเป็นซ้ำสูง การรักษาด้วยยาต้านโรคจิตเป็นวิธีการรักษาอันดับแรกที่สามารถลดความรุนแรงของอาการทางจิต และป้องกันการกลับเป็นซ้ำในผู้ที่เป็นโรคจิตเภทได้ ดังนั้นการให้ความร่วมมือในการรักษาด้วยยาจึงมีความจำเป็นที่จะช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทมีอาการทางจิตทุเลา ป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และลดจำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การศึกษาเชิงพรรณนาเพื่อหาความสัมพันธ์ครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแรงจูงใจในการรักษา ความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าเป็นโรคจิตเภทซึ่งมารับยาที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จำนวน 300 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถาม มีทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1) ข้อมูลส่วนบุคคล 2) แรงจูงใจในการรักษาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท และ 3 ) ความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท แบบวัดแรงจูงใจในการรักษาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ค่าความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .92 ทดสอบความเชื่อมั่นโดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .77 ส่วนแบบวัดความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท ทดสอบค่าความเชื่อมั่นโดยวิธีหาค่าคูเดอร์ ริชาร์ดสัน-20 ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .82 วิเคราะห์ข้อมูลโดย สถิติเชิงพรรณนา และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า แรงจูงใจในการรักษาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทอยู่ในระดับดี ร้อยละ 93.3 โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 138.4 ( SD = 21.1 ) ส่วนความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทอยู่ในระดับดี ร้อยละ 82.3 โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.9( SD = 1.5) แต่พบว่าแรงจูงใจในการรักษาไม่สัมพันธ์กับความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท ผลการศึกษาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า แรงจูงใจไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทซึ่งแตกต่างจากการทบทวนวรรณกรรมในผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังอื่น ดังนั้น การศึกษาถึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องในการให้ความร่วมมือในการรักษาด้วยยาในผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจึงมีความจำเป็น เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทต่อไป

Keywords: โรคจิตเภท, แรงจูงใจ, การรักษา, ความร่วมมือ, แนวโน้ม, จิตเภท, โรคทางจิตเวช, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 2005000099

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: