ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภิชัย มงคล, ทวี ตั้งเสรี, สุพิน พิมพ์เสน,.......

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาระบาดวิทยาของผู้ทำร้ายตนเอง พ.ศ. 2547

แหล่งที่มา/Source: โครงการประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 5 "ก้าวต่อไปในการเรียนรู้ สู่โลกแห่งนวัตกรรม",28-30 มิถุนายน 2549, ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ จ.เชียงราย

รายละเอียด / Details:

บทนำ : กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินแผนงานดูแลช่วยเหลือและป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน การศึกษาระบาดวิทยาผู้ทำร้ายตนเองครั้งนี้จะทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหานี้ที่ลึกซึ้ง และจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในการให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วย วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาสภาวการณ์ด้านกาย จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจ เหตุผลของการมีชีวิต การวางแผน การดำเนินชีวิตของผู้ทำร้ายตนเอง และปัจจัยเสี่ยงต่อการที่ผู้ป่วยยังมีความคิดจะทำร้ายตนเองซ้ำ วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาเชิงสำรวจแบบตัดขวาง โดยสุ่มผู้ทำร้ายตนเองที่ไม่เสียชีวิตจาก รง.506.DS ในช่วง 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2547 จากทุกภาค รวม 25 จังหวัด คิดเป็น 1,200 ราย ดำเนินการสัมภาษณ์โยใช้แบบสัมภาษณ์ระบาดวิทยาผู้ทำร้ายตนเอง พ.ศ. 2547 ผลการศึกษา : อัตราการตอบกลับคิดเป็นร้อยละ 95 แต่สัมภาษณ์ผู้ป่วยได้จำนวน 718 ราย (ร้อยละ 59) ผู้ทำร้ายตนเองเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุระหว่าง 20-29 ปี มีสถานภาพสมรสคู่ อาชีพรับจ้างหรือใช้แรงงาน เกษตรกรรม และนักเรียนนักศึกษา จากการที่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ได้ประเมินสภาวการณ์ปัญหาด้านร่างกาย จิตใจ สังคม การติดสารเสพติด และเศรษฐกิจของผู้ป่วย พบว่า ปัญหาของผู้ป่วยในปัจจุบันที่ประเมินว่า ควรได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม 3 ลำดับแรก ได้แก่ การทำงานและรายได้ (ร้อยละ 24 ถึง 32) สุขภาพจิต (ร้อยละ 14 ถึง 19) และสุขภาพกาย (ร้อยละ 15 ถึง 17) วิธีการทำร้ายตนเองส่วนใหญ่ใช้การกินยาเกินขนาด (ร้อยละ 45) รองลงมาคือ การกินสารเคมี (ร้อยละ 40) สาเหตุจากปัญหาขัดแย้งกับคนใกล้ชิด (ร้อยละ 45 ถึง 49) ได้แก่ คู่ครอง คนรัก (ร้อยละ 39 ถึง 49) โดยไม่มีการส่งสัญญาณให้รู้ล่วงหน้า (ร้อยละ 48) เมื่อประเมินเหตุผลของผู้ป่วยที่ต้องมีชีวิตอยู่ และการที่คนเราไม่ควรทำร้ายตนเอง พบว่ากลุ่มของเหตุผลที่ผู่วยตอบมากที่สุดอันดับแรก เป็นเรื่องการเป็นห่วงคนในครอบครัว ไม่อยากให้เขาเสียใจ (ร้อยละ 86 ถึง 96) ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 60มีการวางแผนการดำเนินชีวิตในอนาคต โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำงานเก็บเงิน การตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และการใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวอย่างเต็มที่ ผลการศึกษาพยากรณ์ความคิดทำร้ายตนเองซ้ำในเพศหญิงและเพศชายโดยใช้สมการถดถอยโลจิสติก ชี้ว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการมีความคิดทำร้ายตนเองซ้ำของเพศหญิง ได้แก่ การมีอาการซึมเศร้า (4.8 เท่าของผู้ไม่มีอาการซึมเศร้า) การมีอาการโรคจิต (4.38 เท่าของผู้ไม่มีอาการโรคจิต) สำหรับปัจจัยเสี่ยงใน เพศชาย ได้แก่ การมีอาการโรคจิต (7.42 เท่าของผู้ไม่มีอาการ) ความคาดหวังในการทำร้ายตนเองให้ตาย (5.37 เท่าของผู้ไม่มีความคาดหวัง) และพบว่าคะแนนเหตุผลการมีชีวิตอยู่เป็นปัจจัยปกป้องต่อการมีความคิดทำร้ายตนเองซ้ำทั้งในหญิงและชาย สรุป: ผู้ทำร้ายตนเองที่ไม่เสียชีวิตในปัจจุบัน ประมาณ 1 ใน 3 ต้องการช่วยเหลือเพิ่มเติมในเรื่องการทำงานและรายได้เป็นลำดับแรก รองลงมาเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้บุคลากรใช้การสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการแก่กลุ่มผู้ทำร้ายตนเอง เพราะช่วยทำให้สามารถประเมินสภาพปัญหาของผู้ป่วยได้อย่างรอบด้าน และสามารถดูลช่วยเหลือผู้ป่วยได้ตรงเป้า

Keywords: ฆ่าตัวตาย, ระบาดวิทยา, ระบาดวิทยาผู้ทำร้ายต้นเอง, ความชัก, อัตราการฆ่าตัวตาย, ปัจจจัยเสี่ยง, ปัญหาการฆ่าตัวตายในไทย, สุขภาพจิต, ภาวะซึมเศร้า, ซึมเศร้า, ทำร้ายตนเอง, สารเสพติด, ครอบครัว, ปัจจัยเสี่ยง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20060001

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2549 จ.เชียงราย

Download: