ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศุภมาส บำรุงรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการพบสุขจากเพื่อนถึงเพื่อน

แหล่งที่มา/Source: โครงการประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 5 "ก้าวต่อไปในการเรียนรู้ สู่โลกแห่งนวัตกรรม",28-30 มิถุนายน 2549, ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ จ.เชียงราย

รายละเอียด / Details:

อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในจังหวัดระยอง ตั้งแต่ปี 2536-2549 เฉลี่ย 10 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จคิดเป็น 15.1 จัดเป็น 10 จังหวัดแรกที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จสูง จากการศึกษาของธำรง สมบบุญตานนท์และคณะ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในระยะก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 นั้น การติดเชื้อเอดส์เป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 35.4) ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายในประชากรไทย และจากการศึกษาของประเวช ตันติพิวัฒนสกุลและคณะ ที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่าการติดเชื้อเอดส์เป็นปัจจัยสำคัญของการฆ่าตัวตายเช่นกัน จังหวัดระยองเป็น 10 จังหวัดแรกที่มีอัตราการติดเชื้อสูงสุดเช่นกัน และจากการศึกษาในผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มารับบริการในโรงพยาบาลระยอง พบว่าเป็นผู้ที่เคยคิดทำร้ายตนเอง ภายหลังติดเชื้อเอดส์ร้อยละ 22.92 เป็นผู้ที่เคยคิดแต่ไม่เคยทำร้ายตนเอง พบร้อยละ 18.75 และผู้ติดเชื้อเอดส์ทำร้ายตนเองซ้ำพบร้อยละ 6.25 และพบว่าผู้ติดเชื้อเอดส์มีปัจจัยทางด้านจิตใจ ที่มักมองว่าตนเองไร้ค่า ไม่มีความสามารถมองสังคมรอบตัวว่าขาดความเป็นธรรม รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง เบื่อหน่าย และเศร้าใจ ร้อยละ 31.25 ส่วนปัจจัยทางสังคม เช่น เศรษฐกิจ ปัญหาความรัก ปัญหาความสัมพันธ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต เช่น การสูญเสีย และบางรายขาดการสนับสนุนทางสังคม พบร้อยละ 18.75 ปัจจัยปกป้อง (Protective factors) ที่ทำให้ไม่คิดทำร้ายตัวเองซ้ำ คือการได้รับความรู้จากแพทย์ บุคลากรทางการสาธารณสุข การได้รับคำแนะนำจากเพื่อนและการได้กำลังใจจากครอบครัว และจากการรักษาที่ทำให้สุขภาพดีขึ้น การดูแลและการให้การช่วยเหลือผู้ที่พยายามทำร้ายตนเองภายหลังพ้นภาวะวิกฤต บางรายยังมีปัญหาทางจิตใจหลงเหลืออยู่ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่สามารถกลับมาพบแพทย์ตามนัดได้ ปัญหาบางเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไขและผู้ป่วยบางรายไม่สามารถจัดการต่อปัญหาของตนเองได้ การเพิ่มศักยภาพในการให้การปรึกษาและการดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแก่แกนนำผู้ติดเชื้อเอดส์ จึงเป็นศักยภาพในการให้การปรึกษาและการดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแก่แกนนำผู้ติดเชื้อเอดส์ จึงเป็นบทบาทสำคัญโดยอาศัยมิตรภาพที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ช่วยกระตุ้นศักยภาพของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ลดภาวะทางอารมณ์จากภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ตลอดจนส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่า ให้แก่ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ตลอดจนสร้างกำลังใจในการเผชิญปัญหาที่เหมาะสมกับตนเองให้ได้มากที่สุด และลดอัตราการทำร้ายตนเองและการทำร้ายตนเองซ้ำของผู้ติดเชื้อเอดส์ได้ในที่สุด วัตถุประสงค์ 1. เพิ่มศักยภาพแกนนำผู้ติดเชื้อเอดส์ ในจังหวัดระยองในการดูแลผู้มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 2. ผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ทำร้ายตนเองไม่สำเร็จ และครอบครัวหรือผู้ดูแลผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ขอบเขตของการดำเนินงาน -แกนนำผู้ติดเชื้อเอดส์ จังหวัดระยอง 50 คน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงาน โปรแกรมการป้องกันและการช่วยเหลือ ผู้มีภาวะซึมเศร้าและผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย(โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล 1. แบบทดสอบก่อน-หลังการอบรมฯ 2. แบบประเมินผลความพึงพอใจต่อกิจกรรม/การอบรม ส่วนที่ 1 ข้อมูลส่วนบุคคล จำแนกเป็นเพศ อายุ การศึกษา สถานภาพสมรส ส่วนที่ 2 ความคิดเห็นที่มีต่อการอบรมและข้อเสนอแนะ 3. สังเกตความสนใจ ตั้งใจในการเข้าร่วมกิจกรรม การอภิปราย ตลอดจนการสรุปของผู้เข้าร่วมการอบรม การวิเคราะห์ 1. แบบทดสอบก่อน-หลังการอบรมฯ จำนวน 20 ข้อ วิเคราะห์ผลด้วยร้อยละ 2. แบบประเมินผลความพึงพอใจต่อกิจกรรม/การอบรม แบ่งเป็น 5 ระดับ คือระดับมากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด วิเคราะห์ผลด้วย ร้อยละ

Keywords: พบสุข, ฆ่าตัวตาย, ซึมเศร้า, วิตกกังวล, เอดส์, ระยอง, พบสุขจากเพื่อนถึงเพื่อน, ภาวะซึมเศร้า, จิตเวช,จิตเวชศาสตร์, ภาวะวิกฤต, เสี่ยงฆ่าตัวตาย, การดำเนินชีวิต, คำแนะนำ, ครอบครัว

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลระยอง

Code: 200600010

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2549 จ.เชียงราย

Download: