ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิตยา จันทโรจวงศ์, ปรียนันท์ สละสวัสดิ์และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของระบบเพื่อนช่วยเพื่อนที่มีต่อผู้ป่วยไม่รับประทานยาต่อหน้าพยาบาลหอผู้ป่วยมะลิวัลย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 236.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล หอผู้ป่วยมะลิวัลย์ มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล ที่มีอาการทางจิตรุนแรง พฤติกรรมก้าวร้าว มีภาวะซึมเศร้า พยายามทำร้ายตนเอง มีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ที่มีความเสื่อมถอยของบุคลิกภาพ อารมณ์ การรับรู้และพฤติกรรมไม่ยอมรับการเจ็บป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยา จากการวิเคราะห์ระบบงานพบว่า ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยาต่อหน้าพยาบาล ในเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2548 คิดเป็นร้อยละ 16.67, 16.67, 17.17 ตามลำดับ มีสาเหตุมากจากการขาดระบบการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยรับประทานยา วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของระบบเพื่อนช่วยเพื่อน ที่มีต่อผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยาต่อหน้าพยาบาลหอผู้ป่วยมะลิวัลย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ขอบเขตการดำเนินงาน ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในหอผู้ป่วยมะลิวัลย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2548-28 กุมภาพันธ์ 2549 วิธีการดำเนินการ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยมะลิวัลย์ จำนวน 131 ราย เมื่ออาการทางจิตสงบ พยาบาลจัดผู้ป่วยเข้ากลุ่มความรู้ เรื่องการตระหนักรู้ในตนเองเกี่ยวกับการรับประทานยา และข้อดีของการรับประทานยา อธิบายถึงวิธีการช่วยเหลือเพื่อนผู้ป่วยด้วยกันในการสร้างแรงจูงใจในการรับประทานยา โดยให้เพื่อนผู้ป่วยที่สนิทหรือคุ้นเคยกัน บอกถึงผลดีของการรับประทานยา ดังนี้ 1) ทำให้อาการดีขึ้น หายเร็วขึ้น 2) ได้กลับบ้านเร็วขึ้น 3) ไม่ต้องกลับเข้ามาอยู่โรงพยาบาลอีก รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกการรับประทานยาของผู้ป่วย ก่อนและหลังการใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน มีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่และร้อยละ สรุปผลการศึกษา ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในหอผู้ป่วยมะลิวัลย์จำนวน 131 ราย มีผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยาต่อหน้าพยาบาล จำนวน 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.79 หลังจากใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อนมาใช้ ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ยอมรับประทานยาต่อหน้าพยาบาลลดลงจากเดิมเหลือ 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.82 ข้อเสนอแนะ มีการใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อนอย่างต่อเนื่อง ขยายผลไปใช้ได้ในทุกหอผู้ป่วย

Keywords: ก้าวร้าว, ซึมเศร้า, ประสาทหลอน, หวาดระแวง, พฤติกรรม, ยา, เพื่อนช่วยเพื่อน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: หอผู้ป่วยมะลิวัลย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Code: 2006000103

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -