ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วิภาวี เผ่ากันทรากร, สุชาดา หุณฑสาร, กชกร พนัสนอก.

ชื่อเรื่อง/Title: ผู้ป่วยจิตเวชในมุมมองพยาบาลชุมชน

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 241.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเครือข่ายจิตเวชชุมชนในกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเจตคติและวิธีการในการดูแลผู้ป่วยของพยาบาลชุมชนในเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โดยศึกษาจากพยาบาลที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 68 แห่ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ทำการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงกับพยาบาลที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิตและยินดีให้ข้อมูล มีผู้ยินดีให้ข้อมูล 53 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป และวิธีการสนทนากลุ่ม จำนวน 6 กลุ่ม กลุ่มละ 8-12 คน ตามแนวคำถาม 5 ประเด็น วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า ผู้ให้ข้อมูลเป็นเพศชาย 1 คนเพศหญิง 52 คน มีอายุระหว่าง 36-51 ปี มีประสบการณ์การทำงานในชุมชน 10-31 ปี ส่วนใหญ่มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยจิตเวช นอกนั้นได้มีโอกาสดูแลบ้าง พยาบาลทั้งหมดมั่นใจว่ามีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับชุมชน แต่ความรู้ทางจิตเวชมีเพียงความรู้ขั้นพื้นฐาน และมีบางคนรับรู้ว่าตนเองไม่มีความรู้ทางจิตเวชเลย ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของผู้ป่วยจิตเวชผ่านความคิดเห็นพยาบาล พบว่าส่วนใหญ่ชาวบ้านมีภาพพจน์ในทางลบต่อผู้ป่วย คือมีความเชื่อว่าผู้ป่วยจิตเวชเป็นคนบ้า กลัวว่าผู้ป่วยจะทำร้าย ยิ่งผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมเอะอะอาละวาดจะยิ่งกลัวมาก ญาติก็จะปกปิดไม่ให้ใครรู้ว่ามีคนป่วยอยู่บ้าน บางชุมชนก็จะขับไล่ผู้ป่วยออกไป บางชุมชนที่ผู้ป่วยไม่ทำร้ายและอยู่ในชุมชนมานาน ช่าวบ้านจะสงสารแต่ก็จะไม่ให้ลูกหลานเข้าไปยุ่ง ส่วนความรู้สึกของพยาบาล พยาบาลส่วนใหญ่รู้สึกกลัว ทั้งกลัวผู้ป่วยทำร้าย กลัวการพูดคุยกับผู้ป่วย กลัวช่วยผู้ป่วยไม่ได้ กลัวทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น ความกลัวต่างๆ มีทั้งรูปแบบของความวิตกกังวล ความเครียด ความไม่มั่นใจ ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับความรู้ทางจิตเวชที่มีน้อยมากจนไม่สามารถทำบทบาทของพยาบาลได้ และที่ผ่านมามีการจัดการในการดูแลผู้ป่วยตามความเข้าใจและประสบการณ์ที่มีอยู่ เมื่อจัดการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ได้ก็จะให้ความสำคัญกับการดูแลผูป่วยทางกายหรืองานประจำมากกว่าการดูแลผู้ป่วยจิตเวช พยาบาลชุมชนมีความต้องการให้หน่วยงานจิตเวชส่งเสริมให้ความรู้ทางจิตเวช มีระบบพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาในการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ รวมถึงการมีศูนย์ให้คำปรึกษาเวลาที่มีเหตุการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือ ข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นความสำคัญของการจัดหลักสูตรทางจิตเวชที่เน้นการสร้างเจตคติทางบวกต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแก่บุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ที่ไม่ได้ดูแลผู้ป่วยจิตเวช

Keywords: เจตคติ, การพัฒนาเครือข่าย, สุขภาพจิต, การดูแล, ชุมชน ความวิตกกังวล, ความเครียด, พยาบาลชุมชน, จิตเวช, ผู้ป่วยจิตเวช, จิตเวชชุมชน, สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: ศูนย์วิจัยและพัฒนา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต

Code: 2006000104

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -