ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มีนา นุ้ยแนบ.

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมเสริมสร้างความสุขในการทำงานของพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 242.

รายละเอียด / Details:

การเป็นพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราขนาดใหญ่ความเป็นอยู่ที่แออัด เครื่องจักรขนาดใหญ่ กระบวนการผลิต การตรวจสอบ และการควบคุมที่เข้มงวด การเร่งผลิตสินค้าเพื่อตอบสนอง ความต้องการของตลาด ทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้ค่าตอบ ต้องเผชิญกับการใช้สารเคมี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สุขสบาย ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ การศึกษาครั้งนี้เพื่อสำรวจระดับพฤติกรรมการเสริมสร้างความสุขในการทำงาน ปัจจัยสนับสนุน และปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างความสุขในการทำงาน ของพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา เป็นพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่ 2 แห่ง ในจังหวัดสงขลา จำนวน 368 ราย เลือกโดยวิธีการสุ่มอย่างมีระบบ (systematic sampling) จากลำดับรายชื่อพนักงาน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง และได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ทดสอบหาค่าความเที่ยงของเครื่องมือวัดระดับพฤติกรรมการเสริมสร้างความสุขในการทำงาน ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .76 เครื่องมือวัดระดับปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .95 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมเสริมสร้างความสุขในการทำงานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (mean=2.23, SD=0.36) ค่าเฉลี่ยรายด้านพบว่าอยู่ในระดับปานกลาง เช่นกัน คือ พฤติกรรมการเสริมสร้างความสุขในการทำงาน ด้านการพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิต(mean= 2.52, SD=0.54) ด้านการมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน (mean=2.27, SD=0.45) ด้านการพัฒนาทักษะการทำงาน (mean= 2.22, SD= 0.60) ด้านการผ่อนคลายความเครียด (mean=2.07, SD=0.55) และด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (mean=1.58,SD=0.66) ปัจจัยสนับสนุนการเสริมสร้างความสุขในการทำงานระดับมาก 3 อันดับแรก คือ ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน (mean=7.73, SD=2.23) ความสะอาดและมีระเบียบของที่ทำงาน (mean=7.40, SD=5.32) และการมีเพื่อนสนิทที่รู้ใจ (mean=7.38, SD=5.32) ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างความสุขในการทำงานอยู่ในระดับปานกลาง 3 อันดับแรก คือ การทำงาน ในที่ร้อนหรือการระบายอากาศไม่ดี (mean=6.54, SD=3.11) พักอาศัยในห้องพักที่คับแคบแออัด (mean=5.98, SD=3.14) กฎระเบียบที่ยุ่งยากของโรงงาน (mean=5.88, SD=2.79) ผลการวิจัยครั้งนี้ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการเสริมสร้างความสุขในการทำงานด้านต่างๆ ทั้ง 5 ด้าน ให้สูงขึ้น เพิ่มปัจจัยสนับสนุนและลดปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างความสุขในการทำงาน

Keywords: พฤติกรรม, การเสริมสร้างความสุข, ทักษะการดำเนินชีวิต, สุขภาพจิต, สงขลา, โรงงานแปรรูปอุตสาหกรรม, ความสุข, เครียด, พนักงานโรงงาน, ทักษะชีวิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลจิตเวชสงขลานครินทร์

Code: 2006000111

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -