ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ภมริน เชาวนจินดา.

ชื่อเรื่อง/Title: บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ในการสร้างเครือข่ายชมรมญาติผู้ป่วยจิตเภท.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 205-206.

รายละเอียด / Details:

การรักษาผู้ป่วยโรคจิตในปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ป่วยกลับไปสุ่ชุมชนมากที่สุด แนวทางการรักษาจึงมุ่งเน้นให้ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย การสร้างเครือข่ายเพื่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวช จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในลักษณะของการดูแลกันเองหรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (self-help group) ซึ่งปัจจุบันมีการรวมกลุ่ม ในลักษณะนี้ก่อตั้งเป็นชมรมญาติ จำนวน 15 ชมรมทั่วประเทศ การศึกษาเชิงคุณภาพนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปบทเรียนเกี่ยวกับบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ในการสร้างเครือข่ายชมรมญาติผู้ป่วยจิตเภทและหารูปแบบในการสร้างเครือข่ายชมรมญาติผู้ป่วยจิตเภท เก็บรวบรวมข้อมูลโดย การจดบันทึก การสังเกต จากเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม จากกรรมการ/สมาชิของสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตและชมรมญาติผู้ป่วยจิตเภท จาก 12 ชมรม จำนวน 115 คน โดยนักสังคมสงเคราะห์ที่ดูแลชมรมญาติดำเนินการสนทนากลุ่มและตอบในคำถามเดียวกัน รวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการประมวลวิเคราะห์เนื้อหา แยกแยะประเด็นที่เป็นแนวหลักของการวิจัย วิเคราะห์เชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฎีและกรอบแนวคิดที่กำหนดไว้ ผลการศึกษาพบว่า นักสังคมสงเคราะห์มีบทบาทในแต่ละระยะคล้ายคลึงกัน โดยจะปรับลดบทบาทมาเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนด้านวิชาการ เมื่อแกนนำสามารถดำเนินงานเองได้ บทบาทโดยรวมได้แก่ เป็นนักวิจัย/นักวิชาการ เป็นนักจัดกิจกรรม เป็นผู้สนับสนุน เป็นคนกลาง เป็นผู้พิทัพษ์สิทธิ เป็นผู้เสริมพลัง และเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนบทบาทที่โดดเด่นในแต่ละระยะมีดังนี้ 1. ระยะก่อนก่อตั้งชมรมญาติมีบทบาทเป็นนักวิจัย/นักวิชาการ โดยการศึกษาสภาพปัญหา ศึกษาข้อมูลระบาดวิทยาการป่วยทางจิตในชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนและแก้ไขปัญหา โดยให้ความรู้ให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ญาติและผู้เกี่ยวข้องและเป็นนักจัดกิจกรรม โดยจัดกิจกรรมและใช้กระบวนการกลุ่ม เพื่อสร้างความไว้วางใจ และปลุกจิตสำนึกให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการรวมกลุ่ม 2. ระยะการก่อตั้งชมรมญาติ มีบทบาทเป็นนักจัดกิจกรรมและเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคจิตไม่ใช่เป็นปัญหาของญาติหรือผู้ป่วยเพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นปัญหาร่วมกัน ทำให้ทุกฝ่ายไว้วางใจกัน และเห็นประโยชน์ของการรวมกลุ่ม จึงก่อตั้งชมรมญาติผู้ป่วยจิตเภทขึ้น 3. ระยะการดำเนินงานของชมรมญาติ มีบทบาทเป็นนักจัดกิจกรรมและเป็นผู้สนับสนุน โดยทำงานร่วมกับสมาชิก และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เป็นคนกลางในการติดต่อประสานงานทำให้ชมรมญาติมีกรรมการ มีระเบียบข้อบังคับ มีกิจกรรม มีทุน/ทรัพยากรในการดำเนินงาน และ 4. ระยะการพัฒนาและขยายตัวของเครือข่ายชมรมญาติ มีบทบาทเป็นนักวิจัย/นักวิชาการ เป็นนักจัดกิจกรรม เป็นผู้สนับสนุน เป็นคนกลาง เป็นผู้พิทักษ์สิทธิ และเป็นผู้เสริมพลัง ทำให้แกนนำมีศักยภาพ มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และขยายบทบาทเป็นสมาคม หลังจากนั้นมีการเพิ่ม-ลด และเปลี่ยนแปลงกิจกรรมสามารถขยายเครือข่ายถึงระดับชุมชนและขยายบทบาทเพื่อสังคม ส่วนรูปแบบของการสร้างเครือข่ายชมรมญาติผู้ป่วยจิตเภท นั้นมี 3 รูปแบบ คือ 1. ชมรมที่มีญาติผู้ป่วยจิตเภทเป็นแกนนำ 2. ชมรมที่มีผู้ป่วยจิตเภทเป็นแกนนำ 3. ชมรมที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนโดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำ โดยทั้ง 3 รูปแบบ มีสิ่งที่คล้ายคลึงกันได้แก่ วัตถุประสงค์ สมาชิก กิจกรรม และระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมเพื่อก่อตั้งชมรม อย่างน้อย 1 ปี ทำให้แต่ละชมรมมีความเข้มแข็ง สามารถเป็นต้นแบบให้ชมรมญาติอื่นๆ ได้

Keywords: ชมรมญาติผู้ป่วยจิตเภท, สังคมสงเคราะห์, จิตเวชชุมชน, กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน, ผู้ป่วยจิตเวช, จิตเวชศาสตร์, จิตเภท, ญาติ, ชมรม, นักสังคมสงเคราะห์, บทบาท, การดูแล, รูปแบบ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง

Code: 2006000117

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -