ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุษา สืบอุดม

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาพัฒนาการนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัด โรงเรียนสอยดาววิทยา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2545

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 78-79. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและช่วยเหลือนักเรียนที่มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดให้ได้ รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลดละเลิกการใช้สารเสพติดและพัฒนาตนเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ประชากร ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนโรงเรียนสอยดาววิทยา ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2545 จำนวน 1,181 คน กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนโรงเรียนสอยดาววิทยา ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2545 ที่ผ่านการคัดกรองจากฝ่ายปกครองว่าเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมใช้ยาเสพติด และยังไม่เคยผ่านการทำกลุ่มจิตสังคมบำบัดในโรงเรียน จำนวน 14 คน โดยให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัดทำแบบประเมินก่อนเข้าร่วมกิจกรรมสังคมบำบัดทุกคน ผู้ศึกษาวิจัยเช็คเวลานักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัดทุกครั้ง ดำเนินการจัดกิจกรรมกลุ่มสังคมบำบัดตามรูปแบบการจัดกิจกรรมของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 17 ครั้ง สัปดาห์ละ 2 วัน ๆ ละ 1-2 ชั่วโมง ระหว่างการดำเนินการจัดกิจกรรม ผู้ศึกษาวิจัยทำการบันทึกแบบสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนกลุ่มจิตสังคมบำบัดระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มทุกครั้ง หลังเสร็จสิ้นการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัด นักเรียนทุกคนทำแบบประเมินความพึงพอใจ ครูที่ปรึกษาและครูผู้สอนทำแบบประเมินพฤติกรรมของนักเรียนหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัด ผู้ศึกษาวิจัยสรุปผลการเรียนและผลการตรวจปัสสาวะลงในตารางสรุปผล นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์หาค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย (X)ผลการวิจัยพบว่า 1. นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัด มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 11 ครั้ง จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 58.71 ส่วนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมไม่ถึง 11 ครั้ง จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 14.29 2. การสุ่มตรวจปัสสาวะ จากนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม 14 คน จำนวน 2 ครั้ง ไม่พบสารเสพติดในปัสสาวะทุกคน 3. นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม มีผลการเรียนดีขึ้นจำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 28.57 และมี ผลการเรียนไม่ดีขึ้น จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 71.43 4. นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัด มีพฤติกรรมดีขึ้นจำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 33.33 และมีพฤติกรรมคงเดิม จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 66.67 5. ความพึงพอใจของนักเรียน จากการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัด อยู่ในระดับปานกลาง (X=3.29) สรุปว่าการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัดส่งผลให้นักเรียนที่มีพฤติกรรมและผลการเรียนดีขึ้นระดับหนึ่ง ช่วยให้นักเรียนลด ละ เลิก การใช้สารเสพติดได้ในระดับสูง และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขในระดับปานกลาง ความสำเร็จของกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัดที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้คือ 1) ผู้บริหาร ตระหนักถึงความสำคัญ และให้การสนับสนุนในการทำกิจกรรม 2) ครู-อาจารย์ เห็นความสำคัญในการเข้าร่วมกิจกรรม ช่วยสอนซ่อมเสริมสำหรับนักเรียนที่ไม่ได้เข้าเรียน ขณะร่วมกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัด และยอมรับให้กำลังใจนักเรียนที่ร่วมกิจกรรม 3) นักเรียนมีความตั้งใจจริง ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรม 4) ผู้ปกครอง ช่วยดูแลติดตามต่อเนื่องขณะเข้าร่วมกิจกรรมและหลังจากเสร็จจากการ ทำกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัด 5) เจ้าหน้าที่ และครู-อาจารย์ ที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากร เสียสละ และมุ่งมั่น มีความตั้งใจจริงในการดำเนินการจัดกิจกรรม การจัดกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัด เหมาะสมกับการใช้ในโรงเรียน เพราะเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจตนเอง เข้าใจวงจรกระตุ้นต่อการติดยา ได้รับการฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการเลิกเสพ เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้กระบวนการกลุ่มในการจัดกิจกรรม โดยให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และ ระดมความคิดช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้เกิดจาการนำประสบการณ์เดิมมาช่วยแก้ไขพฤติกรรมหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในตนเอง กล้าที่จะแสดงออก ในทางที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนและครู-อาจารย์ ในการจัดกิจกรรม มีบางกิจกรรมที่มีใบงานให้ทำมากเกินไป ทำให้นักเรียนเกิดอาการล้า และเบื่อหน่ายต่อการทำกิจกรรม ไม่อยากคิด และเขียน เช่น กิจกรรมที่ 5 มี 3 ใบงาน เวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมบางครั้งไม่พอ กิจกรรมที่ 13 ทักษะการตัดสินใจมีเนื้อหาค่อนข้างยากและมาก ทำให้ยากต่อการเข้าใจ และฝึกปฏิบัติ อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของเวลา เนื่องจากภาคเรียนที่ 2 โรงเรียนมีกิจกรรมมาก เช่น กิจกรรมกีฬาภายใน กิจกรรมวันวิชาการ กิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา และบุคลากรที่ดำเนินการติดราชการ ทำให้ไม่มีเวลาในการทำกิจกรรมกลุ่มจิตสังคมบำบัด ในระหว่างการทำกิจกรรมต้องเลื่อนไปทำจนถึงช่วงนักเรียนสอบปลายภาค

Keywords: สารเสพติด, กิจกรรมกลุ่ม, จิตสังคมบำบัด, นักเรียน, โรงเรียนสอยดอยวิทยา, พฤติกรรม การใช้สารเสพติด, ยาเสพติด, กลุ่มเสี่ยง, กลุ่ม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: งานคลินิกสุขภาพในโรงเรยน โรงเรียนสอยดาววิทยา จังหวัดจันทบุรี

Code: 0000003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -