ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วิมลรัตน์ วันเพ็ญ, ศศกร วิชัย, ไอยรดา ฤทธิกาญจน์, รัตนศักดิ์ สันติธาดากุล, วินัย นารีผล, พันธนิภา หาญปราบ.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของโปรแกรมค่ายพัฒนาสติปัญญาวัยรุ่นไทย.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 234-235.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากสถานการณ์สุขภาพจิตของประเทศไทย แสดงถึงพฤติกรรมสุขภาพของเยาวชนไทยที่ใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจไปกับกิจกรรมบันเทิงมากกว่ากิจกรรมสร้างสรรค์ มีเยาวชนใช้เวลาว่างในการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายเพียงร้อยละ 22.6 ขณะที่ใช้เวลาว่างในการดูโทรทัศน์ร้อยละ 87 รวมทั้งกระแสบริโภคนิยมและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่มเยาวชน ซึ่งพบว่าในกลุ่มเยาวชนจะใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมและสนทนาทางคอมพิวเตอร์ (กรมสุขภาพจิต, 2547) สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ของวัยรุ่นไทยในยุคนี้ จึงได้พยายามศึกษาหาวิธีที่จะส่งเสริมป้องกันปัญหาที่เกิดกับเยาวชน และค้นคว้าแนวทางที่จะพัฒนาศักยภาพเยาวชน จึงได้จัดโครงการพัฒนาสติปัญญาวัยรุ่นไทย (Real Hero Searching Camp) และประเมินผลโครงการดังกล่าว เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาสติปัญญาวัยรุ่นไทยต่อไป วัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาหลักสูตรพัฒนาสติปัญญาวัยรุ่นไทย 2) เพื่อประเมินผล/ประสิทธิผภาพของหลักสูตรพัฒนาสติปัญญาวัยรุ่นไทย ขอบเขตการศึกษา ศึกษาในเยาวขนที่เข้าร่วมโปรแกรมค่ายพัฒนาสติปัญญาวัยรุ่นไทยจากทั่วประเทศอายุ 15-22 ปี ที่มีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร จำนวน 65 คน ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มที่ศึกษา คือ เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม อายุ 15-22 ปี จำนวน 65 คน ระหว่างวันที่ 20 เมษายน ถึง 10 พฤษภาคม 2549 เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับวัยรุ่น (12-17 ปี) แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับผู้ใหญ่ (18-60 ปี) ของกรมสุขภาพจิต และแบบวัดความเชื่อมั่นในตนเอง ของ Erwin Delworth (1985) มีค่าความตรงเท่ากับ ? ค่าความเที่ยงเท่ากับ ? เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามตอบด้วยตนเองเก็บทันทีเมื่อตอบเสร็จทันที่ก่อนการเข้าค่ายและเสร็จสิ้นค่าย วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา จำนวน ร้อยละ และสถิติเชิงวิเคราะห์ paired t-test สรุปผลการวิจัย ผู้เข้าร่วมโปรแกรมค่ายที่ตอบแบบสอบถามครบถ้วนจำนวน 35 คน พบว่าในคะแนนเฉลี่ย ด้านความฉลาดทางอารมณ์รวม และจำแนกรายด้าน ดี ด้านเก่ง และด้านสุข ก่อนและหลังการร่วมโปรแกรมค่ายไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านความเชื่อมั่นในตนเองหลังการเข้าร่วมโปรแกรมค่ายสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมค่ายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ P‹.05 ข้อเสนอแนะ 1. คะแนนความฉลาดทางอารมณ์ เก่ง ดี มีสุข สูงก่อน ตั้งแต่ก่อนเข้าค่ายและไม่แตกต่างกันหลังเข้าค่าย อาจเป็นเพราะเยาวชนที่มาเข้าค่ายซึ่งเป็นเยาวชนแกนนำอยู่แล้วทำให้มีคะแนนความฉลาดทางอารมณ์สูงตั้งแต่ต้น 2. หลักสูตรนี้มีจุดเด่นที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับผู้เข้ารับการพัฒนาได้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาเยาวชน 3. การที่มีเวลารับฟังเยาวชนทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพภายในตนเองของเยาวชนร่วมกับการที่เยาวชนได้ร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมที่หลักสูตรได้จัดให้มีนั้นได้ส่งผลถึงความเชื่อมั่นต่อตนเอง 4. การพัฒนาระดับความฉลาดทางอารมณ์ มีปัจจัยหลายด้านที่เกี่ยวข้อง ทั้งระยะเวลา และความต่อเนื่อง ดังนั้นต้องมีความเฉพาะเจาะจงในการพัฒนาแต่ละด้าน การประเมินหลักสูตรการพัฒนาเยาวชนต้องเลือกเครื่องมือที่เหมาะสม หรือควรพิจารณาประเมินด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การประเมินเชิงคุณภาพ การสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงภายในตนเองของผู้เข้ารับการพัฒนา

Keywords: วัยรุ่น, การพัฒนา, สติปัญญา, โปรแกรม, สุขภาพจิต, พฤติกรรม, ค่าย, สติปัญญา, ค่ายพัฒนาสติปัญญา, ความฉลาดทางอารมณ์, real hero searching camp

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

Code: 2006000119

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -