ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุบล วรรณกิจ.

ชื่อเรื่อง/Title: ประสบการณ์การให้การดูแลเด็กปัญญาอ่อนของมารดา.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 210-211.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล มารดาเด็กปัญญาอ่อนเป็นบุคคลสำคัญในการส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น การศึกษาเกี่ยวกับผู้ดูแลในเชิงปริมาณที่ผ่านมายังมิได้เจาะลึกถึงความคิด ความรู้สึกและประสบการณ์การให้การดูแลเด็กปัญญาอ่อนของมารดาอย่างลึกซึ้งมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมารดาซึ่งเป็นผู้เผชิญกับภาวการณ์พึ่งพาและความพิการที่เรื้อรังของเด็กเองย่อมเกิดการเรียนรู้ และมีวิธีการในการดูแลเด็กตามประสบการณ์ที่ได้รับ นอกจากนี้การศึกษาที่ผ่านมาบ่งถึงด้านภาระและผลเสียที่เกิดขึ้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มมารดาที่ให้การดูแลเด็กได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และดำรงอยู่กับภาระดังกล่าวอย่างมีความสุข บิดากลุ่มนี้มีวิธีการดูแลและจัดการอย่างไร ดังนั้นบุคลากรด้านสุขภาพที่รับผิดชอบในการบริการต้องเข้าใจความคิด เหตุผล และการจัดการดูแลของผู้ดูแลตามความเป็นจริง เพื่อให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของเด็กและครอบครัวได้อย่างแท้จริง วัตถุประสงค์ เพื่อบรรยายและอธิบายความรู้สึกในการดูแลเด็กปัญญาอ่อนของมารดา และวิธีการดูแลเด็กปัญญาอ่อนของมารดาที่ต่อเนื่องทำให้เด็กพัฒนาการดีขึ้น ขอบเขตการวิจัย การวิจัยเชิงปรากฎการณ์วิทยา ผู้ให้ข้อมูลคือมารดาเด็กปัญญาอ่อนที่มีภาวะปัญญาอ่อนระดับรุนแรง จำนวน 8 ราย ซึ่งคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด เก็บรวบรวมข้อมูลในวันที่ 16 พฤษภาคม-30 สิงหาคม 2548 ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การบันทึกเทป ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยดัดแปลงขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลของโคไลซี่ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เครื่องบันทึกเสียง แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แนวทางการสัมภาษณ์เชิงลึก (Interview Guideline) เกี่ยวกับประสบการณ์การดูแลเด็กปัญญาอ่อนของมารดา แบบมีแนวทางการสัมภาษณ์ (Semi-structure interviwe) การเก็บรวบรวมข้อมูล สัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) แบบมีแนวทางการสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ตามวิธีของโคไลซี่ สรุปผลการวิจัย ความรู้สึกเมื่อรับว่าลูกปัญญาอ่อน 5 ลักษณะคือ 1. ไม่เชื่อ/ปฏิเสธ 2. เสียใจ/แย่มาก/ช็อก/ผิดหวัง 3. โทษตัวเอง/โทษหมอ 4. คิดฆ่าตัวตาย ซึ่งความรู้สึกในการดูแลเด็กปัญญาอ่อนมี 7 ลักษณะคือ 1. เป็นภาระ/เครียด 2. ความยากลำบาก 3. ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง 4. มีความหวังแบบไม่คาดหวังมาก 5. เป็นชีวิตที่ต้องดำเนินไป 6. ภูมิใจ 7. มีความสุข วิธีการดูแลเด็กปัญญาอ่อนมี 3 ลักษณะ คือ 1) กิจกรรมการดูแลเด็กโดยทั่วไป คือ 1.1 กิจวัตรประจำวัน ได้แก่ การกินอยู่หลับนอน การเรียน และการเล่น 1.2 ดูแลสุขภาพอนามัย 1.3 การจัดการการดูแล 2) การดูแลเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ คือ 2.1 เตรียมการเพื่อการฝึก 2.2 วิธีการฝึกทักษะที่ทำให้ลูกดีขึ้น ได้แก่ ฝึกทักษะอย่างต่อเนื่อง รู้จักความสามารถของลูก ฝึกตามปัญหา จับมือทำ ลดการช่วยเหลือและให้แรงเสริม จัดหาอุปกรณ์การฝึกเฉพาะ จัดการกับปัญหาพฤติกรรม และพาออกสังคม 2.3 ใช้เทคนิคการฝึก ได้แก่ ใช้การเล่นเป็นการฝึก ใจเย็น เอาใจใส่ เอาจริง ฝึกตามสถานการณ์จริงและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 3) การดูแลด้านจิตใจและอารมณ์ 3.1 ยอมรับ 3.2 ให้ความรัก 3.3 สนับสนุนกระบวนการผ่านพ้นความรู้สึกด้านลบเมื่อลูกปัญญาอ่อน เป็นลำดับคือ 1. ยอมรับและตัดสินใจสู้ 2. ความรัก ความรับผิดชอบที่มีต่อลูก 3. หลักศาสนา 4. คิดด้านบวก 5. สิ่งสนับสนุนการดูแล ได้แก่ กำลังใจจากครอบครัว เพื่อนร่วมประสบการณ์ ผลของการดูแลลูกปัญญาอ่อนที่ยาวนาน มี 4 ลักษณะ คือ 1. มีความอดทน/เข้มแข็งขึ้น 2. การเติบโตทางจิตใจ/พัฒนาจิตใจ 3. ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น 4. หดหู่ ความจำไม่ดี ปัญหาการดูแลเด็กปัญญาอ่อน มี 4 ลักษณะ คือ 1. ปัญหาความพิการทางกายของเด็ก 2. ปัญหาพฤติกรรมของเด็ก 3. ปัญหาครอบครัว 4. ขาดความช่วยเหลือจากบุคลการทางการแพทย์

Keywords: เด็กปัญญาอ่อน, การดูแล, มารดา, พัฒนาการ, ครอบครัว, ปัญญาอ่อน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: กลุ่มการพยาบาล สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต

Code: 2006000120

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -