ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รัตติยา ทองแสง, อนงค์ ธรรมโรจน์, พันธุ์ทิพย์ โกศัลวัฒน์, เกษราภรณ์ เคนบุปผา

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการจัดอัตรากำลังบุคลากรทางการพยาบาลโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 222-223.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากนโยบายปรับลดอัตรากำลังคนของภาครัฐส่งผลให้กรอบอัตรากำลังบุคลากรทางการพยาบาลไม่มีการขยายตัว ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารทางการพยาบาล จะต้องดำเนินการบริหารจัดการทางการพยาบาลให้มีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้อัตรากำลังที่จำกัด และยังต้องคำนึงถึงผลลัพธ์หรือคุณภาพการดูแลผู้ป่วย ตลอดจนความเหมาะสมของชั่วโมงความต้องการการพยาบาลของผู้ป่วยเป็นหลัก รวมทั้งผลผลิตของหน่วยงานซึ่งจะสะท้อนความเหมาะสมของการใช้ทรัพยากร วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินประสิทธิผลของการบริหารจัดการอัตรากำลังตามความเหมาะสมของชั่วโมงความต้องการการพยาบาล และศึกษาความสัมพันธ์ของผลผลิตกับคุณภาพบริการของบุคลากรทางการพยาบาล ขอบเขตการวิจัย เป็นการศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางการพยาบาลของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จำนวน 230 คน ได้แก่ ผู้ช่วยเหลือคนไข้ 104 คน เจ้าหน้าที่ทางการพยาบาล/พยาบาลเทคนิค 39 คน และพยาบาลวิชาชีพ 87 คน ซึ่งถูกจัดให้ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลแยกตาม 11 หอผู้ป่วยใน คือ หอผู้ป่วยจิตเวชชาย 1-6 หอผู้ป่วยพิเศษ หอผู้ป่วยจิตเวชหญิง 1-3 และหอผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2547-31 กรกฎาคม 2548 ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยประเมินประสิทธิผลของการจัดอัตรากำลังด้วยความเหมาะสมของการจัดอัตรากำลัง ตามเกณฑ์ของกองการพยาบาล ซึ่งกำหนดเป็นร้อยละ ผลผลิต >110 หมายถึง จัดอัตรากำลังให้น้อย ร้อยละผลผลิต 90-110 หมายถึง จัดอัตรากำลังให้เหมาะสม ร้อยละผลผลิต‹ 90 หมายถึง จัดอัตรากำลังให้มาก และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของผลผลิตกับคุณภาพบริการของบุคลากรทางการพยาบาลตามตัวชี้วัด คือ จำนวนผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวนผู้ป่วยหลบหนีสำเร็จ จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ และจำนวนความผิดพลาดจากการใช้ยาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ศึกษา ด้วยสถิติ One-way ANOVA สรุปผลการวิจัย พบว่ามีการจัดอัตรากำลังเหมาะสม 3 หอผู้ป่วย จัดอัตรากำลังให้น้อย 4 หอผู้ป่วยและจัดอัตรากำลังให้มาก 4 หอผู้ป่วย ผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าหอผู้ป่วยที่มีร้อยละผลผลิตแตกต่างกัน จะมีจำนวนผู้ป่วยหลบหนีสำเร็จ จำนวนการได้รับบาดเจ็บของผู้ป่วย และจำนวนความผิดพลาดในการให้ยาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P-value=0.04, 0.02, 0.00 ตามลำดับ) เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อพิจารณาตามรายหอผู้ป่วย พบว่ามีหอผู้ป่วยที่จัดอัตรากำลังให้เหมาะสม แต่กลับมีจำนวนการได้รับบาดเจ็บของผู้ป่วยและจำนวนความผิดพลาดในการให้ยาสูง อาจมีผลจากศักยภาพและระดับของบุคลากรทางการพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่ไม่ใช่ระดับพยาบาลวิชาชีพ ส่วนจำนวนการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่ามีอุบัติการณ์เพียง 2 ราย จึงไม่สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างทางสถิติได้ ข้อเสนอแนะ ความเหมาะสมของการจัดอัตรากำลังทางการพยาบาลนอกจากวัดที่ผลผลิตและจำนวนชั่วโมงการพยาบาลต่อวันนอนในโรงพยาบาลแล้ว ผู้บริหารทางการพยาบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการประเมินความสามารถเชิงสมรรถนะ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และกระตุ้นให้บุคลากรทางการพยาบาลมีความตระหนักในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และจริยธรรมของวิชาชีพ รวมทั้งการกำหนดแนวทางการดูแลบุคลากรผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบในการดูแลผู้ป่วย เช่น พยาบาลเทคนิค เจ้าหน้าที่พยาบาลและผู้ช่วยเหลือคนไข้ ตลอดจนความเหมาะสมในการผสมผสานอัตรากำลัง(Staff Mix)

Keywords: ประสิทธิผล, การจัดอัตรากำลังทางการพยาบาล, ผลผลิต, โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์, พยาบาลจิตเวช, อัตรากำลัง, บริการจิตเวช, จิตเวชศาสตร์, บริหารพยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

Code: 2006000122

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -