ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมสกุล สุภัทรพันธุ์, นิตยา จันทโรจวงศ์, สุภาวดี เด่นไพบูลย์และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของ CA ที่มีต่อการหกล้มของผู้ป่วย หอผู้ป่วยจิตเวชพิเศษหญิง กลุ่มการพยาบาลสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 225-226.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในปัจจุบันมีการพัฒนาระบบคุณภาพบริการ โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย และพึงพอใจในบริการ ซึ่งเป็นหลักประกันที่จะให้ได้การพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับความปลอดภัย จำเป็นต้องลดอุบัติการณ์/ความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดกับผู้ป่วย จากการทบทวนอุบัติการร์/ความเสี่ยง ย้อนหลังในปีที่ผ่านมาของหอผู้ป่วยบานบุรีและมะลิวัลย์ พบว่ามีอุบัติการณ์/ความเสี่ยงผู้ป่วยหกล้มค่อนข้างมาก เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นเหตุให้เกิดอุบัติการณ์/ความเสี่ยงผู้ป่วยหกล้มได้ และจากการวิเคราะห์ระบบงานการดูแลผู้ป่วย พบว่ายังมีความบกพร่องในการดูแลป้องกันผู้ป่วยหกล้ม ซึ่งมีสาเหตุมาจากขาดการส่งต่อข้อมูลที่ชัดเจน และขาดการมอบหมายงานที่ระบุผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน จึงได้ปรับระบบให้การดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วย เพื่อป้องกันผู้ป่วยหกล้ม โดยใช้ระบบ CA (C=การส่งต่อข้อมูล, A=การมอบหมายงาน) วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของ CA ที่มีต่อการหกล้มของผู้ป่วย หอผู้ป่วยจิตเวชพิเศษหญิง สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และลดอุบัติการร์/ความเสี่ยงผู้ป่วยหกล้มในห้องนอน จำนวน 0 ราย ขอบเขตการดำเนินงาน ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในหอผู้ป่วยบานบุรีและมะลิวัลย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2548-28 กุมภาพันธ์ 2549 วิธีดำเนินการ ติดตามการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ามารับการรักษาในหอผู้ป่วยบานบุรี และหอผู้ป่วยมะลิวัลย์ จำนวน 269 ราย โดยใช้ระบบ CA เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548-เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ใบรายงานอุบัติการณ์/ความเสี่ยงผู้ป่วยหกล้มในห้องนอนทั้งก่อนและหลังการใช้ระบบ CA มีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ และร้อยละ สรุปผลการศึกษา ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในหอผู้ป่วยบานบุรี และมะลิวัลย์จำนวน 269 ราย หลังจากการใช้ระบบ CA ในการดูแลผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยหกล้มในห้องนอน จำนวน 1 ราย คิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.37 ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพทางสมองมาก่อนคือ Old Cerebrovascular disease ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอเกิดอาการ Stroke แล้วเซล้มทันทีทันใด ข้อเสนอแนะ ควรมีการติดตามแยกประเภทผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการหกล้มได้ตลอดเวลา C หมายถึง Communication การส่งต่อข้อมูล ได้แก่ การสื่อสารระหว่างทีม การรับและส่งเวรแก่บุคลากรในทีมการพยาบาล และมีการสื่อสารกับคนงานในการดูแลความสะอาดของพื้น ไม่ให้เปียก หรือลื่น มีการสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลของการดูแลผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการหกล้ม ดังนี้ 1. ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการหกล้มตามเกณฑ์การประเมินกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในสายตาตลอดไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียว 2. ผู้ป่วยที่อ่อนเพลีย หรือข้อเข่าไม่แข็งแรง ต้องลดกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวให้น้อยลง คอยช่วยเหลือประคับประคองเวลาเดิน 3. ผู้ป่วยที่งุนงง สับสน ต้องปฐมนิเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในห้องบ่อยๆ 4. ดูแลจัดสิ่งแวดล้อมในห้องให้เป็นระเบียบ ไม่มีของวางเกะกะในห้องนอน และมีแสงสว่างในห้องนอนอย่างเพียงพอ 5. ให้การดูแลและแนะนำผู้ป่วยที่มีปัญหาการทรงตัวไม่ดี หรือสายตาไม่ดี ให้เปลี่ยนอิริยาบถช้าๆ หรือไม่ให้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเร่งรีบ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุหกล้ม 6.ดูแลให้ผู้ป่วยสวมร้องเท้าที่เหมาะสม พื้นรองเท้าไม่ลื่น 7. ส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการปรับยาชนิดใหม่/เพิ่มขนาดยา หรือเพิ่มจำนวนยาของผู้ป่วย รวมทั้งอาการเปลี่ยนแปลงหลังได้รับยา เพื่อให้การดูแลและเฝ้าระวังการหกล้มมากขึ้น 8. ให้ความรู้และฝึกทักษะการดูแลตนเองแก่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการหกล้มทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม A หมายถึง Assignment การมอบหมายงาน เป็นการมอบหมายงานแก่ทีมการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอย่างชัดเจน ดังนี้ 1. หัวหน้าเวรมีการมอบหมายงานแก่บุคคลในทีมการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการหกล้มอย่างชัดเจนทุกเวร 2. มีการระบุรายชื่อผู้รับผิดชอบในทีมการพยาบาล ให้ดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้มอย่างใกล้ชิดเฉพาะราย 3. เมื่อผู้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเฉพาะราย ต้องไปทำกิจธุระอื่น ต้องมีการมอบหมายให้บุคลากรอื่นในทีมมาดูแลผู้ป่วยแทน

Keywords: CA, การส่งต่อข้อมูล, การมอบหมายงาน, ระบบคุณภาพ, บริการจิตเวช, ความพึงพอใจ, ผู้ป่วยจิตเวชหญิง, ความปลอดภัย, อุบัติเหตุ, หกล้ม, จิตเวช, หกล้ม, ความเสี่ยง, ทักษะ, การดูแล, พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: หอผู้ป่วยบานบุรีและมะลิวัลย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Code: 2006000123

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -