ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มัลลิฑา พูนสวัสดิ์.

ชื่อเรื่อง/Title: การให้การปรึกษาแนวคิดเซทเทียร์แก่ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตาย กรณีศึกษา .

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 195.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล โรคซึมเศร้าอารมณ์ผิดปกติ จัดได้ว่าเป็นโรคที่รุนแรงและมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุดโดยมีอัตราสูงถึงร้อยละ 15-18 (Murphy et al., 1998) นอกจากการรักษาทางยา กระตุ้นไฟฟ้า และกลุ่มบำบัดแล้ว การให้การปรึกษาแนวคิดเซทเทียร์เป็นการทำจิตบำบัดแบบสั้นมีระบบที่มีประสิทธิภาพเน้นให้เกิดความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในตนเอง จะช่วยให้ผู้รับบริการเข้าใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างเหมาะสม วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการให้การปรึกษาแนวคิดเซทเทียร์แก้ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ขอบเขตการวิจัย เป็นผู้ป่วยในที่รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ในระหว่างเดือน มกราคม-เดือนมิถุนายน 2549 ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่างมีคุณสมบัติอาการทางจิตสงบ สามารถสื่อสารเข้าใจได้รับการวินิจฉัย เป็นโรคซึมเศร้าอย่างเดียวหรือร่วมกับโรคอื่น มีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย และสมัครใจให้ความร่วมมือตามนัดทุกครั้ง ติดตามผลในระยะ 2 เดือน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย ของกรมสุขภาพจิต แบบประเมินระดับคุณค่าในตนเองของคูเปอร์สมิธ (Coopersmith 1984) การเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้กรอบแนวคิดกระบวนการให้การปรึกษาแนวคิดเซทเทียร์ (PROCESS OF Satir Model) ประกอบด้วยการจัดการประสบการณ์ที่เกิดขึ้น 11 ขั้นตอน คือ การเตรียมตัวผู้บำบัด การสัมผัสกับผู้รับบริการ การกำหนดเป้าหมาย รับฟังปัญหา การสำรวจภายในจิตใจ การสร้างพันธะสัญญา การเปลี่ยนแปลง การตอกย้ำ การทบทวน การยุติการบำบัด และการให้การบ้าน ดำเนินการปฏิบัติแบ่งออกเป็น 6 ครั้ง ครั้งละ 1-1.30 ชั่วโมง วิเคราะห์ข้อมูล โดยการถอดเทปข้อมูล และวิเคราะห์รายละเอียดในกระบวนการให้การปรึกษาวิเคราะห์เนื้อหาผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประเมินคัดกรองภาวะซึมเศร้า/ฆ่าตัวตาย และความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองเสนอในภาพรวม ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเข้ารับการปรึกษาจำนวน 3 ราย เพศหญิง 2 ราย เพศชาย 1 ราย คัดกรองภาวะซึมเศร้า/ฆ่าตัวตาย และประเมินความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองมีคะแนนดีขึ้นหลังให้การปรึกษาแนวคิดเซทเทียร์ สามารถสรุปวิเคราะห์กระบวนการที่เกิดขึ้นในการปรึกษาได้ว่า เป็นการปรึกษาที่เน้นกระบวนการรักษามากกว่ารายละเอียดของปัญหา ปัญหาที่พบคือ ภรรยาเสียชีวิต ไม่อยากมีชีวิตอยู่ และไม่ทราบจะอยู่เพื่ออะไรจึงกินยาฆ่าแมลง ปัญหาน้อยใจเพื่อร่วมงานที่กล่าวหาว่าประจบเจ้านายได้เลื่อนตำแหน่งจึงใช้เชือกผูกคอ และปัญหาใช้สารเสพติดครอบครัวแตกแยกจึงใช้มีดกรีดแขนตนเอง สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงคือ เข้าใจและให้อภัยตนเองไม่เรียกร้องและโหยหาความรักจากผู้อื่น และต้องการการยอมรับคนอื่นมากเกินไป รักตัวเองมากขึ้น พร้อมที่เผชิญปัญหาและมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม หลังติดตามเยี่ยม 2 เดือนพบว่า ผู้ป่วยไม่มีความคิดและพฤติกรรมฆ่าตัวตายและสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ข้อเสนอแนะ แนวคิดเซทเทียร์สามารถนำมาใช้ในการให้การปรึกษาในตึกผู้ป่วย และคลินิกให้การปรึกษาผู้ป่วยนอก ใช้ได้ในทุกกลุ่มที่มีปัญหาทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม แม้มีข้อจำกัดในผู้ป่วยโรคจิตที่พยาธิสภาพ และการดำเนินของโรค อาจต้องใช้ระยะการบำบัด 6-12 ครั้ง หรือมากขึ้นไป

Keywords: โรคซึมเศร้า, ความเสี่ยง, การฆ่าตัวตาย, จิตบำบัด, เซทเทียร์, การให้คำปรึกษา, จิตบำบัด, ปรึกษา, ให้การปรึกษา, satir model

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 2006000126

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -