ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมชาย พลอยเลื่อมแสง

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับสุขภาพจิต ตราบาป และการบริการสุขภาพจิตต่อการตัดสินใจเข้ารับบริการในสถานบริการสุขภาพจิต.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 192.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวางครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหาอัตราการตัดสินใจเข้ารับบริการสุขภาพจิตเมื่อประสบปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน และการศึกษาผลของปัจจัย ได้แก่ ทัศนคติต่อสุขภาพจิต สุขภาพจิตเป็นตราบาป (Stigma) ทัศนคติต่อสถานบริการสุขภาพจิต การบริการสุขภาพจิต ความเชื่อมั่นในการจัดการปัญหาสุขภาพจิต และการรับรู้ข้อมูลข่างสารจากสื่อ ต่อการตัดสินใจเข้ารับบริการสุขภาพจิตของประชาชนคนไทย ดำเนินการศึกษาโดยการส่งแบบสอบถามให้แก่กลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบ 2 ขั้นตอน (Two stage Cluster Sampling) จาก 5 ภาคของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จำนวน 1,500 คน วิเคราะห์ผลของปัจจัยต่างๆ ต่อการตัดสินเข้ารับบริการสุขภาพจิตโดยสถิติLogistic Regression Analysis และ t-test และวิเคราะห์หาผลของปัจจัยต่างๆ ต่อทัศนคติต่อสุขภาพจิตและสุขภาพจิตเป็นตราบาป โดยสถิติ Multiple Regression Analysis ผลการสำรวจพบผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 198 คน หรืออัตราการตอบกลับร้อยละ 13.2 โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.9 ตัดสินเข้ารับบริการสุขภาพจิตเมื่อประสบปัญหาสุขภาพจิต ปัจจัยสำคัญเพียงปัจจัยเดียว ที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าใช้บริการสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือการมีทัศนคติที่ดีต่อสุขภาพจิต และสุขภาพจิตไม่เป็นตราบาป (p‹0.01) และปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติที่ดีต่อสุขภาพจิต และสุขภาพจิตไม่เป็นตราบาป มี 5 ปัจจัย ได้แก่ ความเชื่อมั่นในการดูแลตนเองและการรับรู้จากสื่อ ทัศนคติต่อสถานบริการสุขภาพจิต อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม รายได้ต่อเดือน และอิทธิพลของญาติพี่น้องในการเลือกบริการสุขภาพ ในการส่งเสริม เสริมสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับสุขภาพจิต ร่วมกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตควรดำเนินการใน 3 มิติ คือในกลุ่มเป้าหมายที่จำเพาะ รูปแบบกลยุทธ์ทั้งเชิงรุก เชิงรับและผู้มีส่วนร่วมการในกลยุทธ์ทั้งระดับผู้ให้บริการและชุมชน ข้อเสนอแนะจากการศึกษา ในการศึกษาเรื่องการบริการสุขภาพจิต มักพิจารณาในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพจิตหรือบุคลากรทางการแพทย์ และมุมมองของผู้รับบริการและญาติ ตัวอย่างการศึกษาในมุมมอง บุคลากรการแพทย์ เช่น การศึกษาค่าใช้จ่าย อัตราการใช้บริการสุขภาพจิต คุณภาพ ประสิทธิภาพการให้บริการสุขภาพจิตรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้กำหนดนโยบายในการพัฒนาระบบบริการ และสถานบริการ ตัวอย่างการศึกษาในมุมมองของผู้รับบริการและญาติ เช่น ความพึงพอใจของผู้รับบริการสุขภาพจิต ขณะที่มุมมองที่สำคัญอีกประการ คือ มุมมองของประชาชนทั่วไป กลับมีการศึกษาไม่มากนัก ทำให้การจัดการเชิงนโยบาย วางกลยุทธ์ต่างๆ ในการพัฒนาระบบบริการ และสถานบริการ เป็นการเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยและญาติ และบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน ดังนั้นมุมมองประชาชนต่อบริการสุขภาพจิตจึงควรมีการศึกษา เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตให้มาก

Keywords: สุขภาพจิต, ทัศนคติ, ประชาชน, ตราบาป, การบริการ, สถานบริการสุขภาพจิต, โรงพยาบาลจิตเวช, ความพึงพอใจ, stigma

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 2006000128

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -