ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ช่อวิเชียร บริบูรณ์ทรัพย์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคจิตจากสารเสพติด ของอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 185.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ด้วยปัญหายาเสพติดได้ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม หลังรัฐบาลประกาศสงครามกวาดล้างยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของสารเสพติดเบาบางลง พบว่ากลุ่มผู้ที่เคยเสพสารเสพติดประเภท กัญชา ยาบ้า สารระเหยและเหล้า มีอาการผิดปกติทางจิตผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่ทราบอัตราการป่วยที่แน่นอนว่ามีผู้ป่วยอยู่จำนวนเท่าใด ไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยจึงได้ทำ การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคจิตจากสารเสพติด วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงขนาดความรุนแรงของปัญหาโรคจิตที่เกิดจากสารเสพติด การพัฒนารูปแบบคุณภาพบริการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทางจิตจากสารเสพติด และติดตามประเมินผลรูปแบบที่พัฒนาขึ้นมา ขอบเขตการวิจัย 1.ขนาดกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคจิตที่เข้ารับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลปราณบุรีและที่พบในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีอนามัย ในพื้นที่อำเภอปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2548-31 พฤษภาคม 2549 จำนวน 70 คน 2.การสุ่มตัวอย่าง เก็บผู้ป่วยทุกราย 3.ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต 4.เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง 5.การเก็บรวบรวมข้อมูล เก็บรวบรวมข้อมูลจากแฟ้มประวัติของผู้ป่วย และแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง 6.การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบผู้ป่วยจำนวน 24 คนป่วยเป็นโรคจิตจากการเสพสารเสพติด คิดเป็นอัตราชุกร้อยละ 34.28 ของผู้ป่วยโรคจิตทั้งหมดที่พบ ร้อยละ 95.85 เป็นเพศชาย เป็นเพศหญิงเพียงคนเดียวซึ่งป่วยเป็นโรคจิตจากการดื่มเหล้า พบผู้ป่วยจำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 4.28 เริ่มทดลองเสพยาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สารเสพติดที่ผู้ป่วยใช้แล้วพบว่าทำให้ป่วยเป็นโรคจิตได้แก่ ยาบ้า กัญชา สารระเหย กระท่อม และเหล้า รูปแบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพระบบบริการได้แก่ 1.การจัดการกับฐานข้อมูลผู้ป่วยด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป PDB-Pranburi เพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานยาเสพติดและจิตเวชทั้งหมด การจัดทำสมุดบันทึกแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษาผู้ป่วยทั้งหมด 2. การติดตามเยี่ยมรักษา 3.จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และยารักษาอาการทางจิตเวชให้พร้อมในโรงพยาบาลชุมชน จัดทำโครงการเพื่อป้องกันปัญหา คือ ปลุกกระแสรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด โครงการระบบช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง และหลังการบำบัดรักษาอาการทางจิตอยู่ในสภาพปกติส่งผู้ป่วยไปฟื้นฟูสภาพในชุมชนโดยอาศัยต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชนผลการศึกษาวิจัย ทำให้ได้ฐานข้อมูลที่ถูกต้องนำไปสู่การทราบถึงสถานการณ์ของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ สามารถนำผู้ป่วยโรคจิตจากสารเสพติดและจากสาเหตุอื่น จำนวน 60 คนคิดเป็นร้อยละ 85.71 เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาและสามารถฟื้นฟูสภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยอาศัยทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิมในชุมชน สรุปผลการศึกษา ทำให้ได้ฐานข้อมูลที่ถูกต้องนำไปสู่การทราบถึงสถานการณ์ของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ สามารถนำผู้ป่วยโรคจิตจากสารเสพติดและจากสาเหตุอื่น จำนวน 60 คน คิดเป็นร้อยละ 85.71 เข้าสู่ ระบบการบำบัดรักษาและสามารถฟื้นฟูสภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยอาศัยทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิมในชุมชน ข้อเสนอแนะ ควรศึกษาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยโรคจิต จากกลุ่มติดสารเสพติดแต่ละชนิด เพื่อเป็นแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยโรคจิตจากสารเสพติดแต่ละชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Keywords: โรคจิต, สารเสพติด, การบำบัดรักษา, การฟื้นฟูผู้ป่วย, การพัฒนาคุณภาพ, ยาเสพติด, โรคจิต, ผู้ป่วยโรคจิต, ยาบ้า, สารระเหย, เหล้า, จิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

Code: 2006000130

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -