ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุชาดา หุณฑสาร.

ชื่อเรื่อง/Title: กรณีศึกษานำร่อง ผลก่อนและหลังผู้ป่วยจิตเภทที่เข้าสู่ระบบเครือข่ายฯ.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 136.

รายละเอียด / Details:

กรณีศึกษานี้เป็นโครงการนำร่องเพื่อให้ทราบผลของการดูแลและ/หรือรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น กับผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังก่อนและหลังเข้าสู่เครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเภทโดยพยาบาลเยี่ยมบ้านของสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร อันจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยดังกล่าวต่อไป การศึกษาครั้งนี้ทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 และศูนย์บริการสาธารณสุข 21 จำนวนศูนย์ฯละ 1 คน โดยเตรียมบุคลากรของศูนย์ฯ ด้วยการปรับเจตคติให้ความรู้ด้านการปฏิบัติงานจิตเวช ส่งต่อผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ได้รับการรักษาจากสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาและเป็นที่ปรึกษาในการดูแลต่อเนื่อง มีการติดตามประเมินผลด้านต่างๆทุก 3 เดือน ผลการศึกษา ผู้ป่วยคนที่ 1 ก่อนเข้าเครือข่ายฯ ผู้ป่วยกลับมารับการรักษาในสถาบันฯ มากกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี เป็นการรักษาไม่สม่ำเสมอ โดยจากการประเมินก่อนส่งเข้าเครือข่ายพบว่าระดับอาการทางจิต (BPRS) 25 ซึ่งอยู่ในระดับดี คะแนนคุณภาพชีวิต 26 และระดับภาระการดูแลของญาติ ค่อนข้างเป็นปัญหามาก หลังเข้าเครือข่ายฯพบว่า ผู้ป่วยไม่กลับมารับการรักษาซ้ำในสถาบัน มีระยะเวลาการอยู่บ้านนานขึ้น รับยาต่อเนื่องและมีระดับอาการทางจิต (BPRS) 19 คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และระดับภาระการดูแลของญาติลดลง ผู้ป่วยคนที่ 2 ก่อนเข้าเครือข่ายฯ ผู้ป่วยกลับมารับการรักษาซ้ำบ่อยๆ และรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ จากการประเมินพบว่าระดับอาการทางจิต (BPRS) 40 ซึ่งอยู่ในระดับมาก คุณภาพชีวิต 27 ซึ่งไม่ดี ส่วนระดับภาระในการดูแลของญาติอยู่ในระดับมาก หลังเข้าเครือข่ายผู้ป่วยไม่กลับมารับการรักษาซ้ำและรับยาอย่างต่อเนื่องระดับอาการทางจิต (BPRS) 22 อยู่ในระดับค่อนข้างดี คุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพกาย จิตใจและสิ่งแวดล้อม ระดับภาระการดูแลของญาติลดลง ผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ญาติมีความพึงพอใจต่อการดูแลของศูนย์บริการสาธารณสุขในระดับมาก สรุปผลการศึกษา ผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ไม่กลับมารับการรักษาซ้ำ มีระยะเวลาอยู่บ้านนานขึ้น โดยมีอาการทางจิตและคุณภาพชีวิตดีขึ้น รวมทั้งเป็นภาระต่อญาติลดลง ญาติพึงพอใจการดูแลต่อเนื่องมากขึ้น ข้อเสนอแนะ 1.การให้บุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วย เข้ามามีส่วนในการดูแล อาจส่งผลดีต่ออาการคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจิตเภทเรื้อรังและญาติได้ 2.ระบบการดูแลร่วมกันของสถาบันฯและศูนย์ฯรวมทั้งเจตคติ ความรู้และทักษะตลอดจนการเป็นที่ปรึกษาอาจช่วยให้บุคลากรสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวได้ดีขึ้น 3.อาจมีความเป็นไปได้ในการเกิดระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเภทอย่างมีประสิทธิภาพในกรุงเทพมหานครต่อไป

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, เครือข่าย, สุขภาพจิต, สิ่งแวดล้อม, คุณภาพชีวิต, เยี่ยมบ้าน, ระบบการดูแลผู้ป่วนจิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: กลุ่มงานจิตเวชและสุขภาพจิตชุมชน สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Code: 2006000136

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -