ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุนทรี ศรีโกไสย.

ชื่อเรื่อง/Title: สถานการณ์การให้บริการผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในโรงพยาบาลชุมชน.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 162.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะไปรับบริการในโรงพยาบาลชุมชนด้วยอาการทางกาย หากได้รับการวินิจฉัยและการบำบัดรักษาไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะโรคร่วมและมีการเจ็บป่วยเรื้อรัง วัตถุประสงค์ การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายสถานการณ์การให้บริการผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในโรงพยาบาลชุมชน ขอบเขตการวิจัย ศึกษาในผู้ให้บริการและผู้รับบริการบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าในโรงพยาบาลชุมชนใน จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนจำนวน 7 แห่ง ระหว่างเดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม 2549 ระเบียบวิธีวิจัย ผู้ให้ข้อมูลเป็นแพทย์จำนวน 6 ราย พยาบาลวิชาชีพจำนวน 6 ราย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จำนวน 6 ราย และญาติของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 3 ราย โดยการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เจาะลึกร่วมกับการบันทึกภาคสนาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัย การให้บริการผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 7 แห่งมีลักษณะคล้ายกันโดยเริ่มจากการคัดกรองของพยาบาลแผนกผู้ป่วยนอกด้วยคำถาม 2-3 คำถามได้แก่ นอนหลับไหม เบื่ออาหารไหม เบื่อหน่ายท้อแท้ไหม แล้วส่งให้พยาบาลสุขภาพจิตคัดกรองซ้ำด้วยแบบคัดกรองซึมเศร้า 15 ข้อ พร้อมอธิบายอาการของโรค ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาก่อนส่งพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและให้ยารักษา นอกจากนี้ยังมีการนัดหมายให้มารับบริการต่อเนื่องทุก 2-4 สัปดาห์โดยพยาบาลสุขภาพจิต ระยะเวลาการรักษาเฉลี่ย 3-6 เดือน มี 4 โรงพยาบาลที่มีการส่งต่อให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยติดตามดูแล กรณีมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยใน ลักษณะอาการของผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลพบว่าผู้ให้ข้อมูลทุกรายรับรู้ว่าเป็นอาการของความเจ็บป่วยทางกาย บางรายมาด้วยปัญหาการพยาบาลฆ่าตัวตาย สำหรับการวินิจฉัยโรค ผู้ให้ข้อมูลที่เป็นผู้ให้บริการทุกรายรับรู้ตรงกันว่า ผู้ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยเป็น Anxiety Neurosis บางรายได้รับการวินิจฉัยตามอาการ ส่วนผู้รับบริการทุกรายรับรู้ว่า แพทย์ไม่ได้แจ้งว่าป่วยเป็นโรคอะไร จะรู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าเมื่อได้พูดคุยกับพยาบาลสุขภาพจิต วิธีการรักษาของผู้ให้บริการที่เป็นแพทย์จำนวน 65 ราย ใช้ยาต้านซึมเศร้าชนิด fluoxetine amitryptyline ร่วมกับ diazepam มีผู้ให้ข้อมูล 1 รายที่ไม่เคยใช้ยา fluoxetine และผู้ให้บริการทุกรายกล่าวถึงวิธีการรักษาของแพทย์ว่า ส่วนใหญ่ไม่กล้าใช้ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มใหม่ และไม่มั่นใจในการปรับยา มีเพียง 1 รายที่มั่นใจปรับลดยาเองเพราะเคยได้รับการอบรม นอกจากนี้ผู้ให้บริการทุกรายรับรู้ตรงกันว่า การตัดสินใจใช้ยารักษาของแพทย์รวมทั้งการตัดสินใจช่วยเหลือแบบต่างๆจะใช้ความคิดเห็นของพยาบาลสุขภาพจิตเป็นหลัก วิธีการให้บริการของพยาบาลสุขภาพจิตทั้ง 6 รายคือให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาเชิงลึกรายบุคคลและครอบครัว และมีผู้ให้ข้อมูล 1 รายให้การบำบัดแบบกลุ่ม ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลที่เป็นผู้รับบริการทุกราย รับรู้ว่าบริการที่ได้รับคือได้ยามากิน ได้พูดคุยกับพยาบาลสุขภาพจิต มีผู้ให้ข้อมูล 1 รายได้รับการเข้ากลุ่มร่วมกับผู้ป่วยโรคเดียวกัน ผลลัพธ์ของการรักษาพบว่าผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และมีบางรายที่อาการไม่ดีขึ้นหรือมีการกลับป่วยซ้ำ ส่วนผู้รับบริการทุกรายให้ความเห็นว่าตนเองมีอาการดีขึ้น ความต้องการสนับสนุนของผู้ให้บริการแบ่งได้เป็น 2 ด้านคือ การสนับสนุนการปรับปรุงระบบบริการ โดยให้แต่ละหน่วยงานมีความตระหนักและสามารถคัดกรองพร้อมให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้ทุกราย และการเพิ่มชนิดของยาต้านซึมเศร้าที่ทันสมัย และต้องการสนับสนุนด้านวิชาการโดยจัดอบรมเพิ่มพูนความรู้ให้แพทย์ มีแบบคัดกรองที่ไวต่อการวินิจฉัย และมีโปรแกรมสำเร็จรูปในการรักษา ความคาดหวังต่อการรักษา พบว่าผู้ให้บริการทุกรายคาดหวังให้แพทย์มีความตระหนักในโรคซึมเศร้า มีศักยภาพในการวินิจฉัยโรคและการรักษา คาดหวังให้พยาบาลสุขภาพจิตรับผิดชอบดูแลเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน พยาบาลในหน่วยงานต่างๆสามารถคัดกรอง มีทักษะการปรึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง คาดหวังให้ผู้รับบริการร่วมมือรักษาอย่างต่อเนื่อง และไม่ปรับลดยาเอง ส่วนความคาดหวังของผู้รับบริการทุกรายคือ แพทย์ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ มีเวลาพูดคุยและเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น อธิบายเรื่องยา ไม่ส่งต่อไปโรงพยาบาลจิตเวช ได้รับบริการที่เป็นกันเองจากพยาบาลจุดคัดกรอง ได้กำลังใจ และไม่ถูกถามด้วยคำถามซ้ำๆจากพยาบาลสุขภาพจิต ข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การให้บริการผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในชุมชนต้องการผู้รักษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นอย่างมาก เพื่อจะได้ให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ดังนั้น การอบรมเฉพาะทางหรือการศึกษาต่อเนื่องของแพทย์และพยาบาล ตลอดจนการผลิตสื่อ เทคโนโลยีในการคัดกรองและการช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อการส่งเสริมประสิทธิภาพการรักษาในชุมชนและการลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช

Keywords: โรคซึมเศร้า, การให้บริการ, การบำบัดรักษา, สุขภาพจิต, โรงพยาบาลชุมชน, เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, บริการจิตเวช, การวินิจฉัย, สถานการณ์โรคซึมเศร้า, บริการผู้ป่วยโรคซึมเศร้า, ซึมเศร้า

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง

Code: 2006000137

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -