ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: แววดาว วงศ์สุรประกิต.

ชื่อเรื่อง/Title: การจัดการรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ถูกล่ามขัง กรณีศึกษา.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 138.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล โรคจิตเภทเป็นโรคทางจิตเวชที่รุนแรงที่สุดจากจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางจิตเวช ที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล และเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ เนื่องจากการเจ็บ ป่วยด้วยโรคนี้ทำให้บุคคลขาดสมรรถภาพในการดำรงชีวิตที่สมบูรณ์ ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทมักมีอาการแสดงออกทั้งอาการทางบวกและอาการทางลบ และอาการทางบวกมักเป็นปัญหาในการดูแลมากกว่า เนื่องจากมักเป็นอาการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นส่งผลให้ บางครั้งญาติได้หาวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าวโดยใช้วิธีการล่ามขังเพื่อเป็นการป้องกันอันตราย จึงทำให้ผู้ป่วย ขาดโอกาสและขาดสิทธิที่จะได้รับการรักษา ปัจจุบันแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภทจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปอยู่กับครอบครัวและชุมชนโดยเร็วที่สุดเพื่อเป็นการป้องกันการกลับเป็นซ้ำและรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมทั้งได้มีการนำการจัดการรายกรณีมาใช้ในการดูแล การจัดการรายกรณีเป็นกระบวนการดูแลผู้ป่วยที่ใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มีการประเมินสภาพผู้ป่วย วางแผนให้การดูแล ประสานงานติดตาม และประเมินผลทางการจัดการการดูแลต่างๆ ให้สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการของผู้ป่วย วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการใช้การจัดการรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ถูกล่ามขัง ขอบเขตการศึกษา ศึกษาในผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ถูกล่ามขังในจังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง จำนวน 2 ราย ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548-เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 วิธีการศึกษา 1)คัดเลือกผู้ป่วยเข้าระบบการดูแลแบบการจัดการรายกรณี 2) ผู้จัดการรายกรณี (case manager) ประเมินสภาพ วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยและญาติพบปัญหา คือ ผู้ป่วยรักษาไม่ต่อเนื่องทำให้มีอาการกำเริบซ้ำ มักทำร้ายผู้อื่น ญาติมีความหวาดกลัวและนำไปล่ามขัง ชุมชนรังเกียจ 3) วางแผนการปฏิบัติการโดยผู้จัดการรายกรณีติดต่อประสานงานกับทีมสหวิชาชีพและให้การดูแลผู้ป่วยตามแบบแผนการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทที่มีปัญหาซับซ้อน (care map) 4) ประเมินผลการปฏิบัติการดูแลทั้งด้านผู้ป่วยและด้านผู้ให้บริการ สรุปผลการศึกษา ผู้ป่วยกรณีศึกษารายที่1 ผู้ป่วยรับประทานยาได้อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ อาการทั่วไปสงบ สามารถทำงานได้ เช่น ช่วยบิดาเลี้ยงวัว ออกไปหาฟืน สนใจดูแลตนเองดีพอควร สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีความสุข มีรายได้เป็นของตนเอง และไม่กลับมารักษาซ้ำ ผู้ป่วยกรณีศึกษา รายที่ 2 สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เอง มีทักษะทางสังคมมากขึ้น รับประทานยาได้อย่างต่อเนื่อง ญาติมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดี ญาติและชุมชนมีมุมมองที่เปลี่ยนไปโดยให้การยอมรับและให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับครอบครัว ข้อเสนอแนะ ควรมีการใช้การจัดการรายกรณีในผู้ป่วยโรคทางจิตเวชอื่นๆ

Keywords: โรคจิตเภท, การดูแล, ล่ามขัง, ความรุนแรง, สุขภาพจิต, คุณภาพชีวิต, โรคเรื่องรังทางจิตเวช, การจัดการรายกรณี, case manament, การพยาบาลจิตเวช,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง

Code: 2006000138

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -