ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จันทนา ศรีวิศาล

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการดูแลผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนและผู้ดูแล.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 144.

รายละเอียด / Details:

ผู้ป่วยจิตเภทมีการดำเนินโรคแบบเรื้อรังและรุนแรง มีโอกาสป่วยซ้ำได้หลายครั้ง มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่รักษาได้ผลดีไม่กลับเป็นซ้ำ อีกร้อยละ 25 ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และมีความพร้อมในหน้าที่ต่างๆอย่างมาก ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 มีอาการเป็นๆหายๆ (ชะฤทธิ์ พงศ์อนุตรี 2531:991) การให้การรักษาพยาบาลค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากผู้ป่วยจิตเภทมักมีสภาพทางคลินิกและการทำหน้าที่ทางสังคมบกพร่อง เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุดในโรงพยาบาลจิตเวชทั่วไป ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แล้วยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัวที่สำคัญคือ ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีรายได้ลดลง เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ ญาติต้องเสียเวลาในการประกอบอาชีพและรู้สึกเป็นภาระในการดูแล เครียด ซึมเศร้า และบางรายมีปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง กลุ่มการพยาบาลร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาลสวนสราญรมย์จึงตระหนักถึงความสำคัญของ การพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลและการพัฒนาคู่มือและเทคโนโลยีการดูแลผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนและผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้รับการดูแลที่ครอบคลุมแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพ เน้นการบริการที่มีคุณภาพภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัดและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม จึงได้จัดโครงการพัฒนาการจัดระบบบริการ รักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเภทในโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จากโรงพยาบาลต่อเนื่องสู่ชุมชน โดยใช้ระบบ Case management และพัฒนาคู่มือและเทคโนโลยีการดูแลผู้ป่วยจิตเภทและผู้ดูแล โดยคาดว่าผู้ป่วยและผู้ดูแลจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามวิชาชีพ ส่งผลให้ผู้รับบริการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความพึงพอใจต่อบริการที่รับและลดอัตราการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาล วัตถุประสงค์ 1.ผู้ป่วยจิตเภทและครอบครัวได้รับการดูแลครอบคลุมแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง จากโรงพยาบาลสู่ชุมชน 2.ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับบริการที่ถูกต้องตามมาตรฐานแต่ละวิชาชีพโดยสหวิชาชีพ (ประกันคุณภาพบริการ ขอบเขตของการศึกษา ศึกษาในผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนตามเกณฑ์ผู้ป่วยซับซ้อนที่กำหนดและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2547-2549 การดำเนินโครงการ การดำเนินการแบ่งเป็น 4 ระยะคือ 1.ระยะเตรียมการ (1.1) เตรียมความพร้อมของทีมสหวิชาชีพ โดยการจัดอบรมเตรียมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีแก่สหวิชาชีพ (1.2) จัดทำและพัฒนาคู่มือและเทคโนโลยีการดูแลผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนและผู้ดูแล 2.ระยะดำเนินการทดลอง ใช้นวัตกรรมการจัดการผู้ป่วยรายกรณีโดยใช้กระบวนการศึกษาวิจัยผลการนำเทคโนโลยีไปใช้ 3.ระยะติดตามประเมินผลและแก้ไขปรับปรุงคู่มือ และเทคโนโลยี 4.การเผยแพร่นวัตกรรมและเทคโนโลยีการดูแลผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนและผู้ดูแล ผลการดำเนินงาน ได้นวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนดังนี้ 1.แนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเภทระยะเฉียบพลัน (Clinical Pathway) 2.แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยจิตเภท (CNPG) ระยะเฉียบพลัน และระยะฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชน 3.คู่มือการดูแลผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนโดยใช้ระบบ Case Management สำหรับทีมสหวิชาชีพโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ 4.โปรแกรมการดูแลผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทแบบองค์รวมสำหรับบุคลากรและผู้ดูแล 5.แบบบันทึกการเตรียมความพร้อมก่อนจำหน่าย ข้อเสนอแนะ ควรมีการพัฒนามาตรฐานการเตรียมความพร้อมก่อนจำหน่ายสำหรับผู้ป่วยจิตเภทและผู้ดูแลแบบองค์รวมศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, การพัฒนา, สุขภาพจิต, นวัตกรรม, การดูแล, ครอบครัว, เทคโนโลยี, รูปแบบการดูแล, บริการจิตเวช, มาตรฐาน, คุณภาพบริการ, โรคจิต, จิตเวชศาสตร์, case management

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: งานจิตเวชชุมชนโรงพยาบาลสวนสราญรมย์

Code: 2006000139

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -