ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัญชลี ดำรงไชย.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งบำบัด จังหวัดเชียงใหม่.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 153.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ยาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดแนวทางในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งการพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูนั้นได้มีการนำองค์ความรู้ทางตะวันตกมาผสมผสานกับบริบทของประเทศไทยแต่พบว่า ภายหลังการบำบัดยังมีผู้กลับไปเสพซ้ำอีกกว่าร้อยละ 80 ดังนั้นจำเป็นต้องหารูปแบบวิธีการบำบัดฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถหยุดการใช้ยาอย่างต่อเนื่องได้นานที่สุด โครงการชุมชนเข้มแข็งบำบัด เป็นหนึ่งในแนวทางการบำบัดฟื้นฟูที่มุ่งให้การดูแล ช่วยเหลือ ให้โอกาส ปรับความคิด พฤติกรรมและสร้างแรงจูงใจให้กลับเป็นคนดีของสังคมภายใต้ พลัง ศักยภาพ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน วัตถุประสงค์ เพื่อใช้กระบวนการชุมชนเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยให้เรียนรู้รูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมโดยไม่กลับไปเสพซ้ำ ประกอบอาชีพสุจริต และได้รับการยอมรับจากสังคม ชุมชน ขอบเขตการศึกษา คัดเลือกพื้นที่แบบเฉพาะเจาะจงที่มีคุณสมบัติเป็นชุมชนเข้มแข็ง ได้แก่ บ้านแม่ฮักพัฒนา ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ครอบครัวพักใจ จำนวน 12 ครอบครัว และติดยาเสพติดที่ผ่านการถอนพิษยาแล้ว จำนวน 12 คน วิธีดำเนินการ - ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ได้แก่ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/อำเภอ และชุมชน - ร่วมวางแผนและเตรียมความพร้อมของผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ผู้ติดยาเสพติด ครอบครัวพักใจ ครอบครัวจริง และชุมชน - จัดกิจกรรมบ้านกำลังใจ ให้เรียนรู้การดำเนินชีวิตโดยไม่ใช้สารเสพติด การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในครอบครัว ชุมชน การฝึกอาชีพ และพัฒนาจากคุณธรรมจริยธรรม จิตวิญญาณด้วยหลักศาสนา โดยมี Role Model คือ พี่เลี้ยงและครอบครัวพักใจ - กิจกรรมบำบัดด้วยโปรแกรมจิตสังคมบำบัด ชุมชนบำบัด (Therapeutic Communioty) ครอบครัวบำบัด และการให้บริการปรึกษา โดยใช้ระยะเวลา 4 เดือน และติดตามผลภายหลังสิ้นโครงการ 1 ปี - เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์แบบโครงสร้าง และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และนำมาวิเคราะห์ความถี่ ร้อยละ และเนื้อหา ผลการดำเนินงาน มีครอบครัวพักใจ 12 ครอบครัว ผู้ที่ติดยาเสพติดที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 12 คน ทั้งหมดเป็นเพศชายและถูกส่งตัวจากสำนักงานคุมประพฤติ และทั้งหมดร้อยละ 100 ได้ผ่านกระบวนการทุกขั้นตอนของโครงการครบ 4 เดือน โดยได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตในครอบครัวชุมชนโดยไม่ใช้สารเสพติด ได้รับการฝึกทักษะอาชีพทั้งทางด้านเกษตรกรรม ช่างเชื่อมและการทำขนม รวมทั้งการปรับความคิดพฤติกรรมให้เหมาะสม และผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ครอบครัวพักใจและชุมชนร้อยละ 80 พึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในครั้งนี้ ข้อเสนอแนะ 1.การเตรียมครอบครัวพักใจ ควรจะมีการเตรียมความพร้อมมากกว่านี้ทั้งในด้านทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจในผู้ที่ติดยาเสพติด บทบาทหน้าที่ การดูแล ทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ติดยาเสพติดมาก่อน 2.ชุมชน ครอบครัวพักใจควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สมาชิกโดยเฉพาะในเรื่องสุรา 3.ควรมีการบูรณาการ ประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากกว่านี้ 4.ควรขยายพื้นที่ในการดำเนินการ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานโครงการพึ่งจะเสร็จสิ้นในช่วงของการดำเนินกิจกรรม 4 เดือน แต่ยังไม่ได้มีการติดตามผล ซึ่งยังคงต้องดำเนินการติดตามผลในผู้ที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องหลังเสร็จสิ้นโครงการอีก 1 ปี

Keywords: ยาเสพติด, การฟื้นฟู, การบำบัดรักษา, โครงการชุมชนเข้มแข็ง, สารเสพติด, บำบัดยาเสพติด, จิตสังคมบำบัด, กิจกรรมบำบัด, ชุมชนบำบัด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต

Code: 2006000140

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -